อธิบดีอัยการ สคช.ยกอุทาหรณ์คดีเจ้าหนี้นอกระบบดอกเบี้ยโหด เจอลูกหนี้ขับรถอัดเสาไฟฟ้าตาย แนะลูกหนี้เมื่อเจอดอกโหดให้แจ้งความดีกว่า อย่าใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา แทนที่จะเป็นผู้เสียหายกลับเป็นผู้ต้องหาแทน
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี หรือ สคช.โพสต์ข้อความให้ความเห็นทางกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าว สามีแม่ค้าผลไม้สุดทนเจ้าหนี้ดอกโหด ตามทวงเมียไม่เลิก ยืมมา 13,000 บาท จ่ายไป 63,000 บาทแล้ว ขอหยุดส่งเพราะเป็นซีสต์ที่เต้านมก็ไม่ยอม ตามด่าโวยวายถึงหน้าร้าน โมโหขับรถพุ่งชนร่างเจ้าหนี้อัดติดเสาไฟฟ้าดับสยอง ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ดอกเบี้ยโหด สู้กลับ เจ้าหนี้ตาย ต้องรอกว่ากฎหมายคุ้มครองทุกคน กฎหมายห้ามลูกหนี้ฆ่าเจ้าหนี้นอกระบบ และกฎหมายก็ห้ามเจ้าหนี้เอาเปรียบลูกหนี้เช่นกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หนี้นอกระบบกดดันจนคนทำผิดกฎหมาย ตนมั่นใจว่า คนขับรถชนเจ้าหนี้นอกระบบเก็บดอกรายวัน รู้ว่าขับรถชนคนตายผิดกฎหมายแน่ แต่คงทนไม่ไหวจากการทวงหนี้ ที่เจ้าหนี้ทำกับครอบครัวเขา เมื่อหนี้นอกระบบสู้กลับ วันนี้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ใช้กฎหมู่ตัดสินกันเองแล้ว ลูกหนี้ผูกคอตาย เจ้าหนี้โดนชนตาย จนลืมกันหมดว่ามีกฎหมายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุก ทำร้ายผู้อื่น ฆ่าผู้อื่น ก็มีโทษจำคุกเช่นกัน ลูกหนี้หาทางออกไม่ได้ฆ่าตัวตายก็หลายรายแล้ว
ขอแนะนำว่าให้กลับมาใช้กฎหมาย ให้สังคมอยู่กันได้อย่างปลอดภัยและสงบสุข ดอกเบี้ยตามกฎหมายแค่ร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น เกินกว่านี้ผิดโทษจำคุกนะครับ ข่าวนี้เห็นได้ว่า เมื่อฝ่ายลูกหนี้ถูกกดดัน จนทนไม่ไหว เมื่อก่อนลูกหนี้ไปฆ่าตัวตาย วันนี้ครอบครัวลูกหนี้ฆ่าเจ้าหนี้ บ้านเมืองจะหาขื่อแป ที่ไหน ตำรวจก็ต้องดำเนินคดีกับชายที่ขับรถชนเจ้าหนี้นอกระบบถึงแก่ความตายตามกฎหมาย สอบสวน และดำเนินคดีกันไปตามความจริง ที่ผ่านมามีคนโทรมาถามตนแล้วว่าเป็นบันดาลโทสะหรือไม่ ตนก็ตอบไปว่า ให้พนักงานสอบสวนเค้าสอบสวนให้ได้ความจริง เพราะเราไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และเมื่อได้ความความจริงแล้วดำเนินคดีกันตามกฎหมาย ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป กฎหมายมีไว้คุ้มครองประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีอะไรผิดกฎหมายใช้กฎหมายแก้ปัญหา แจ้งความดำเนินคดี
"อย่าเอาความบกพร่องของคนมามองว่ากฎหมายบกพร่องไปด้วย อย่าใช้อารมณ์ตัดสินกันเอง ใช้อารมณ์เมื่อไหร่ ผิดกฎหมายเมื่อนั้น และเมื่อผิดกฎหมายก็มีโทษทางอาญาตามมา ทุกข์แสนสาหัสก็กลับมาสู่ครอบครัวเช่นกัน ฝากถึงลูกหนี้นอกระบบที่ถูกเจ้าหนี้ขูดเลือดดอกเบี้ย ไปแจ้งความดำเนินคดีครับ ดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ทวงหนี้ผิดกฎหมาย ใช้กฎหมายคุ้มครองเรา เพราะถ้าใช้อารมณ์ใช้กำลังก็จะกลายเป็นผู้ต้องหาเอง แทนที่จะเป็นผู้เสียหาย เพราะดอกเบี้ย" อธิบดีอัยการ สคช.ระบุย้ำ