วันที่ 15 ธ.ค.2566 เวลา 11.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้วิเคราะห์การดำเนินงาน และการบริหารราชการแผ่นดินครบ 100 วันแรกของรัฐบาล ทั้งในแง่ข้อดีและข้อด้วยที่ควรปรับปรุง ว่า ยังประเมินเป็นเกรดไม่ได้ ทำได้อย่างมากแค่การวิเคราะห์ เพราะไม่มีโรดแมปออกมาว่า รัฐบาลจะทำอะไรที่ชัดเจน ถือว่าการทำงานของรัฐบาลผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง ซึ่งทำออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีบางเรื่องทำได้ดีแล้ว ก็ขอให้ทำต่อ บางเรื่องที่ทำแล้วยังมีข้อที่จะต้องพัฒนาและปรับปรุง ก็หวังว่ารัฐบาลจะรับฟังการทำงานของฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ และฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนด้วย

ในเชิงรัฐศาสตร์ 100 วันแรก เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เพราะช่วงเวลาทางการเมืองไม่มีช่วงโหมโรง ไม่มีช่วงฮันนีมูน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ใน 100 วันแรก รัฐบาลต้องให้ความสำคัญคือ 1.การแสดงถึงความมุ่งมั่นในการรักษาสัญญาที่ได้ให้ไว้ก่อนที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลกับประชาชน 2.การมีโรดแมป หรือวาระ 100 วันแรกในการบริหาร ติดตาม และการสั่งงานของรัฐบาล 3.การบริหารความคาดหวัง เชื่อมั่น ของทั้งพี่น้องประชาชน และนักลงทุนจากต่างประเทศ

 

นายพิธา กล่าวต่อว่า เข้าใจว่ามีข้อจำกัดทั้งด้านเวลา และงบประมาณแผ่นดิน แต่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสิ่งต่างๆ ข้างต้น เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้ในช่วงเวลาที่ยากเย็น บ่งบอกได้ถึงวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น เป้าหมาย และความคาดหวังในอนาคตต่อรัฐบาล ในส่วนภาพใหญ่ เราวิเคราะห์การทำงานของรัฐบาลด้วย กรอบ 5 คิด s  เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีผลกระทบกับการใช้ภาษี และความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ได้แก่ 1.คิดดี ทำได้ จากโครงการวัคซีนมะเร็งปากหมดลูก (HPV) 1 ล้านโดส, การบริหารจัดการหนี้สิน ทั้งในและนอกระบบ ผ่านการแถลงของนายกรัฐมนตรี ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในปัญหา เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้ดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล เราขอชื่นชมในสิ่งที่รัฐบาลได้ทำ และขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงทีมรัฐสภา ที่นำโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ตั้งทีมเจรจา และทำให้ผู้ที่ถูกลักพาตัวไป ได้รับการปล่อยตัว 23 คน การอนุมัติงบเยียวยารายละ 50,000 บาท การอนุมัติสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย



“สิ่งที่อยากจะฝากรัฐบาลที่ทำดีอยู่แล้วให้ทำต่อ คือการช่วยเหลือตัวประกันที่ยังอยู่กับกลุ่มฮามาส อีก 9 คน หวังว่ารัฐบาลจะไม่ลืมพวกเขา รวมถึงการส่งต่อเงินเยียวยาให้กับแรงงานไทยในอิสราเอลที่มีความยากลำบากทางสภาพคล่องทางการเงิน และหวังว่าจะมีการถอดบทเรียน ต่อยอด และทำให้ดีขึ้นได้ หากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นอีก ทั้งการอพยพ การนำแรงงานกลับประเทศ การช่วยเหลือทางการเงิน"

2.คิดไป ทำไป ในการปรับเปลี่ยนไปมาของเงินเดือนข้าราชการ,โครงการแลนด์บริดจ์ และที่สำคัญคือในเรื่องที่มาของเงิน เทคโนโลยีที่ใช้ และกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ จากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เข้าใจว่าบางครั้งจำเป็นที่จะต้องยืดหยุ่นในการทำนโยบาย ซึ่งทำให้ไม่สามารถคิดได้ครบในครั้งเดียว แต่สิ่งสำคัญคือ การใช้งบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน ทั้งในรูปแบบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือเงินกู้ กว่า 500,000 ล้านบาท เราเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการใช้เทคโนโลยีในการทำนโยบาย แต่งบประมาณจำนวนมากนี้ ไม่ควรกระทบพื้นที่ทางการคลังในการแก้ไขปัญหา” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายถึง 4 ครั้ง ทำให้เห็นว่านโยบายนี้ เป็นการใช้งบประมาณ ที่เราและลูกหลานของเราต้องมาชดใช้ในอนาคต รวมถึงเป็นการเบียดบังงบประมาณที่สามารถใช้แก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ในระยะยาวต่อได้ ซึ่งการที่รัฐบาลไม่คิดอย่างรอบคอบ และเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้เกิดความสับสนในสังคม รวมถึงกลุ่มตลาดทุนด้วย สิ่งที่คาดหวังจากรัฐบาลคือ ต้องมีแผนสอง หากจะเอานโยบายดิจิทัลวอลเลต ก็ไม่ควรที่จะต้องปรับเปลี่ยนอีกแล้ว แต่หากจะไม่เอานโยบายดิจิทัลวอลเลต ก็จะต้องมีความชัดเจน ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว

3.คิดสั้น (ยัง) ไม่คิดยาว ในเรื่องที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของประชาชน ทั้งค่าไฟ ค่าพลังงาน ค่าคมนาคม และโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่มีเพียงมาตรการระยะสั้น แต่ยังไม่เห็นมาตรการ การแก้ปัญหาที่ต้นตอ 4.คิดใหญ่ ทำเล็ก ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งซอฟต์พาวเวอร์ การบริหารการท่องเที่ยว ผ่าน visa free การลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในส่วนที่ดินสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และค่าแรง จากการแสดงออกถึงความไม่พอใจของนายกรัฐมนตรี ที่ได้มีข้อสั่งการลงไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวเลขที่ควรจะเป็น หรือตัวเลขที่ได้สัญญาไว้


นายพิธา กล่าวอีกว่า นโยบายด้าน Soft Power สิ่งที่เกิดขึ้น คือการตั้งคณะกรรมการซอฟต์เพาเวอร์ พร้อมเคาะงบประมาณ 5,164 ล้านบาท เพื่อสนับสนุน 11 อุตสาหกรรม, การเสนอตั้ง THACCA เพื่อสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง, การเสนอตั้งศูนย์บ่มเพาะ Upskill/Reskill สำหรับแรงงาน 20 ล้านคน ภายใน 4 ปี โดยมีเป้าหมายว่าปีแรกต้องได้ 1 ล้านคน, และการทำ Winter Festival และสงกรานต์ตลอดทั้งเดือนเมษายน นโยบายเหล่านี้คล้ายกันกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอไว้ แต่ในสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่รัฐบาลเคยสัญญาไวักับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คือการเสนอแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพิ่มเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งรัฐบาลเคยสัญญาไว้ว่าจะทำใน 100 วันแรก

สำหรับนโยบาย THACCA รัฐบาลควรจะใช้เวลา 100 วันแรก ในการยื่น พ.ร.บ. ตั้ง THACCA เพื่อให้การบริหารจัดการมีอำนาจรองรับ และสามารถให้แวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้เข้าใจว่า THACCA และสิ่งที่เรามีอยู่ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้วจะจัดการอย่างไรต่อไป ซึ่งการเสนอให้แก้กฎหมายภายใน 100 วันแรกจะใช้เวลานาน แต่ยังมีกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อลดขั้นตอนการขออนุญาตกองถ่ายหรือการจัดเฟสติวัลได้ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในส่วนของการสนับสนุนการรวมตัวของแรงงานฟรีแลนซ์ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเราได้เสนอ พ.ร.บ.แรงงานฉบับก้าวไกลเข้าสู่สภาฯ ไปแล้ว หากมีการพิจารณาให้ผ่าน แรงงานฟรีแลนซ์สามารถรวมตัวเพื่อเรียกร้องสวัสดิการ เพื่อให้มีแรงผลักดันที่สร้างสรรค์ต่อไป เครื่องดื่ม อาหาร ก็นับเป็น 1 ในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลเคยกล่าวไว้ อีกสิ่งที่เป็นนโยบายควิกวิน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสามารถผลักดันได้ทันที คือการแก้กฎกระทรวงเรื่องสุราก้าวหน้า โดยการผลิตแอลกอฮอล์นั้น จะต้องไม่ใช้กฎหมายเข้ามากีดกันในแง่ของเงินทุน จำนวนผู้ผลิต จะทำให้ผู้ประกอบการที่มีไอเดียสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ

อีกทั้งช่วงแรกของการสร้างเคเวฟที่เกาหลีใต้ คือการสร้างคูปองเปิดโลก 2 พันบาท เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ของอุตสาหกรรมภาพยนต์ ดนตรี หนังสือและพิพิธภัณฑ์ได้ทันที และอีกข้อเสนอที่ได้รับจากการเดินทางไปเกาหลีใต้ คือเพิ่มรอบฉายภาพยนตร์ไทยเพิ่มขึ้นเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของรอบฉายในโรงหนังทั้งหมด ก็สามารถเพิ่มอุปสงค์และอุปทานของอุตสาหกรรมนี้ได้ใน 100 วันแรก

นายพิธา กล่าวอีกว่า 5.คิดอย่าง ทำอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ, การทำประชามติ, ที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง, การปฏิรูปกองทัพ ที่มีความชัดเจนในการยื่นกฎหมายเข้ามาตั้งแต่สภาฯ ชุดที่แล้ว หรือการศึกษาในรัฐสภา ที่เราเห็นว่า พรรคเพื่อไทยมีความคิดไปในทิศทางที่สอดคล้องกับพรรคก้าวไกล แต่การกระทำตอนนี้ค่อนข้างจะตรงข้ามกับสิ่งที่คิดไว้ เนื่องจากรัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องคำถาม และการทำประชามติว่าจะเป็นอย่างไร

รวมทั้งความชัดเจนที่มาของ ส.ส.ร.ว่า จะมาจากการเลือกตั้งทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจพอสมควร เพราะการร่วมงานกันในฐานะพรรคฝ่ายค้านร่วมระหว่าง พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เรามีความเห็นตรงกันถึงร้อยละ 90 ไม่ว่าจะที่มาของ ส.ส.ร. และการทำประชามติ แต่พอการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลปัจจุบัน ที่เข้าหาขั้วตรงข้ามที่ไม่ต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เกิดความไม่ชัดเจน เกิดความคิดอย่างทำอย่างเกิดขึ้น

ทั้งที่สิ่งที่ควรจะเป็น คือหากจะมีการทำประชามติรอบแรก ก็ควรมี 1+2 คำถาม คือ 1.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. หรือไม่ 2.ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ 3.ส.ส.ร. ควรมีอำนาจพิจารณาแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ทุกหมวดหรือไม่ เพื่อเป็นการรักษาสัญญา อย่างคิดไว้ว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และเข้าถึงอำนาจอย่างตรงไปตรงมา

นายพิธา ยังกล่าวถึงความคาดหวังในการทำงานของรัฐบาลในปีหน้าด้วยว่า รัฐบาลควรมีกลยุทธ์โรดแมปที่ชัดเจน เราต้องการเห็นแผนการทำงานของรัฐบาล 1 ปี ที่เป็นมืออาชีพมากว่านี้ ซึ่งในฐานะรัฐบาลผสมก็ต้องทำงานให้มีเอกภาพมากกว่านี้ และควรศึกษารายละเอียดของโครงการที่จะทำให้ดีเสียก่อนที่จะประกาศออกไป ต้องเป็นแผนที่ประชาชน สื่อมวลชนสามารถติดตามกับการทำงานของรัฐบาลได้ และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน

สำหรับสถานการณ์การเมืองในปีหน้า ที่มีการวิเคราะห์ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จากนายเศรษฐา เป็นน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และจะไม่เกิดโครงการดิจิตอลวอลเลตขึ้นนั้น นายพิธา กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนทิศทางน่าจะเหมาะสมมากกว่าการหาทางลง เพราะประเทศไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านี้ แต่ขอให้ปรับเปลี่ยนทิศทางมีเป้าหมายและมีความเป็นมืออาชีพ จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ที่ดูแล้วเหมือนร้อนในปีหน้า เบาบางลงได้ ซึ่งการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในตอนนี้แต่ควรให้โอกาสนายกรัฐมนตรี ได้ทำงานก่อน ซึ่งคงต้องมีการประเมินสถานการณ์ในอนาคตอยู่เรื่อยๆ แต่คงไม่เป็นสาระสำคัญในการแถลงวันนี้

สำหรับกรณีที่มีการประเมินว่านายเศรษฐาไม่ใช่นายกรัฐมนตรีตัวจริงนั้น นายพิธา กล่าวว่า เห็นตัวอย่างเรื่องที่นายกฯออกข้อสั่งการ และแสดงความไม่พอใจกับตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำ หากเป็นตนก็จะไปดูสูตรการคำนวณ นอกเหนือการสั่งงานว่า จะเอาเป้าหมายอย่างไร ก็ต้องส่งคนเข้าไปดูว่า กระบวนการเกิดขึ้นอย่างไร หากมีการตามงานภายใน จะได้ไม่มีเซอร์ไพรส์ออกมาในหน้าข่าว จึงอยากเสนอแนะนายกรัฐมนตรีว่า ไม่สามารถสั่งการลงไปแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทันที เพราะการบริหารราชการแผ่นดินไม่เหมือนกับเอกชน ที่จะต้องมีกระบวนการในการบริหารงาน และให้คนไปติดตามว่า สิ่งที่สั่งการนั้นเป็นไปได้ทางกฎหมายหรือไม่ ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็จะต้องมีการปรับแก้อย่างไร

นายพิธา กล่าวถึงโจทย์หินของรัฐบาล ว่า คือเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ จีดีพีที่ไม่แน่ใจว่าจะถึงร้อยละ 2 หรือไม่ เรื่องของดิจิตอลวอลเลตที่อยู่ในกฤษฎีกา เรื่องของการท่องเที่ยวที่รายได้ไม่ถึง 4 แสนล้านบาทตามเป้าหมาย แม้จะมีคนมาท่องเที่ยว 27 ล้านคนก็ตาม การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนที่คาดไว้ในระดับร้อยละ 60 ดังนั้น ฟรีวีซ่าตรงนี้ ก็ไม่เพียงพอ คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐบาล หากฟังประชาชนบ้าง เพื่อนนักการเมืองบ้างว่า มีความจำเป็นจะต้องทำงานแบบมีโรดแมป