สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ...*...
ทิศทางจังหวะก้าวของพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นที่จับจ้องอีกครั้ง หลังนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และคณะเข้ายึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะสะท้อนให้เห็นว่าดีเอ็นเอของพรรคนี้จะยังคงเดิมเป็นฝ่ายค้านมืออาชีพ หรือเปลี่ยนแปลงเป็นพรรคอะไหล่ จนก่อให้เกิดอาการกระเพื่อมไปถึงกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ...*...
แม้มีถ้อยแถลงจากปากนายเฉลิมชัยว่า ตัวเองอยู่พรรคมา 22 ปี หลักการและอุดมการณ์ของพรรคไม่เคยเปลี่ยน และเป็นคนเคร่งครัดกับอุดมการณ์พรรคมาตลอด จึงยืนยันได้ว่า ใครก็ตามที่บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีจิตวิญญาณแล้ว อยากขอให้มองพรรคด้วยใจที่เป็นธรรม วันนี้ตอบคำถามตรงนี้ได้ แต่วันหน้าไม่สามารถเดาได้ แต่ยืนยันว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน และวันที่ 12 ธันวาคมนี้ จะเปิดประชุมสภาฯ พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งที่สุด ...*...
ทว่า กลับดูเหมือนไม่ได้รับความเชื่อถือจากบรรดาผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองเท่าไรนัก เพราะต่างยังจำได้ดีถึงคำประกาศในช่วงก่อนเลือกตั้งของนายเฉลิมชัยที่ว่า "ในวันนี้พรรคประชาธิปัตย์เรามี ส.ส.จำนวน 51 คน และคาดว่าปีหน้าจะมีการเลือกตั้ง เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะมี ส.ส.มากกว่านี้ หากพรรคไม่ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ผมเองจะกลับมาประจวบฯ และจะเลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต" ...*...
โดยเฉพาะยังถูกย้ำแผลจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกันเอง โดยนายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวร่ายยาวถึง 7 เหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถยอมรับการขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ของนายเฉลิมชัยประกอบด้วย “1.บุคลิกของคุณเฉลิมชัยไม่ใช่ผู้นำทางการเมือง หรือหัวหน้าพรรค แต่มีความเหมาะสมในการเป็นเลขาธิการพรรคมากกว่า เพราะเป็นคนมีบุคลิกใจถึงพึ่งได้ เหมาะกับการทำหน้าที่เป็นแม่บ้านให้กับพรรคการเมือง 2.คุณเฉลิมชัยไม่มีลักษณะโดดเด่นทางการเมือง พูดจาประเด็นการเมืองไม่แหลมคม ไม่สามารถตอบโต้หรือดีเบตทางการเมือง กับผู้นำพรรคการเมืองอื่นๆได้ 3.คุณเฉลิมชัย เคยล้มเหลวในตำแหน่งเลขาธิการพรรคมาแล้วในยุคที่คุณอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ทำหน้าที่ไม่ประสบความสำเร็จ ถูกกดดันจากสมาชิกพรรค จนต้องลาออกจากเลขาธิการพรรคไป และได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นนายจุติ ไกรฤกษ์ แทน 4.ในการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 คุณเฉลิมชัย ได้สอบตกพ่ายแพ้ ให้กับนายพรเทพ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งสร้างความเสียหายทางการเมืองมากที่สุด เพราะคนระดับเลขาธิการพรรค มาสอบตก 5.การเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ในฐานะเลขาธิการพรรคได้ประกาศว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม 52 คน จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต เมื่อผลการเลือกตั้งได้ ส.ส.เพียง 25 คน แต่คุณเฉลิมชัยกลับไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ในคำพูดของตัวเอง ทั้งที่มีสโลแกนประจำตัวว่า คำไหน คำนั้น 6.คุณเฉลิมชัย เป็นคนไม่รักษาสัจจะ ตระบัดสัตย์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีคำขวัญประจำพรรคว่า สัจจฺ เว อมต วาจา ซึ่งหัวหน้าพรรคทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่นกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยแสดงความรับผิดชอบคำพูดให้เห็นมาก่อนแล้ว 7.การไม่รักษาคำพูด เป็นเรื่องสำคัญทางการเมือง การตระบัตสัตย์ของคุณเฉลิมชัย จะเป็นบาดแผลใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อหัวหน้าพรรค เป็นคนไม่มีความน่าเชื่อถือทางด้านคำพูด ก็จะทำให้พรรคขาดความเชื่อถือไปด้วย เหมือนกับพุทธสุภาษิต ที่กล่าวไว้ว่า คนโกหก ไม่ทำชั่ว ไม่มี” ...*...
ทำให้โจทย์ใหญ่ข้อแรกของนายเฉลิมชัย คือต้องหาทางกอบกู้เครดิตตัวเอง เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนทั้งจากคนนอกและคนในพรรคประชาธิปัตย์เองกลับมาให้ได้ ...*...
จากนี้ไปบทบาท ท่าที และจุดยืนของนายเฉลิมชัยจะให้คำตอบที่ชัดเจนว่า การเมืองไทยนอกจากไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรแล้ว ยังไร้สัจจะด้วยหรือไม่
ที่มา:เจ้าพระยา (14/12/66)