รพ.ประจวบเปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร ช่วยภาวะคนมีบุตรยากได้เร็วขึ้นหลังคาดการณ์อนาคตประชากรไทยจะเหลือเพียง 33 ล้านจากปัจจุบัน 66 ล้านคน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 ธ.ค.2566 นพ.สุรัตน์ ส่งวิรุฬห์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานพิธีเปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร(Fertility clinic) โดยมี พญ.สุกัลยา นิมิตสุรชาติ นายแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม กล่าวรายงาน พร้อมด้วย พญ.อัญชลี ขุนทอง , นพ.อารัมภ์ ทัพสมุทรเดชากร สูติแพทย์ และมี นางสมเนตร ทองอยู่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พยาบาลประจำคลินิก เจ้าหน้าที่ รพ.ประจวบฯ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และประชาชนผู้เข้ารับบริการ เข้าร่วม ที่คลินิกสูติ-นรีเวชกรรม ชั้น 3 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลประจวบฯ
นพ.สุรัตน์ ส่งวิรุฬห์ ผอ.รพ.ประจวบฯ กล่าวว่า เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่รพ.ประจวบฯได้ให้บริการเปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตรเป็นครั้งแรก ทั้งนี้เรื่องของการส่งเสริมการมีบุตรนั้น เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากประชากรไทยถ้าหากว่ายังคงมีอัตราการเกิดในสภาวะที่เป็นอยู่ ในขณะที่อัตราการตายน้อย เป็นผู้สูงวัยมาก หากเป็นเช่นนี้ไประยะยาวๆ ซึ่งมีคาดการณ์ไว้แล้วว่าถ้าหากไม่ทำอะไร ในอีก 50-60 ปีข้างหน้าประชากรไทยจะเหลือเพียงครึ่งเดียว จาก 66 ล้านคน จะเหลือเพียง 33 ล้านคน จึงเป็นที่มาของการที่จะต้องมีการออกยุทธศาสตร์ของระดับชาติ ในการจะขับที่เคลื่อนส่งเสริมการมีบุตร
ทั้งนี้ โรงพยาบาลประจวบฯ ได้สนับสนุนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และเขตสุขภาพที่ 5 ในการที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ ส่งเสริม กระตุ้น ให้ความรู้ ให้คำแนะนำกับผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ ตั้งแต่วัย 18 ปีขี้นไป ถึง 20 ปีต้นๆ เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถที่จะตั้งครรภ์ได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งในระหว่างที่ตั้งครรภ์สามารถที่จะเข้ามาได้รับการดูแลให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น สำหรับผู้ที่ยังไม่อยู่ในภาวะที่พร้อมจะมีบุตร ทางคลินิกฯก็จะสามารถให้คำแนะนำ ส่งเสริมความเข้าใจ และดูถึงการที่จะช่วยกันปรับจุดที่จะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการที่จะมีบุตรอย่างไร เพื่อให้มีความมั่นใจ มีความพร้อมที่จะมีบุตรอย่างมีคุณภาพ นี่คือสิ่งที่ทาง รพ.ประจวบฯจะพยายามช่วยดำเนินการ
โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร จะช่วยเพิ่มอัตราการเข้ารับบริการสำหรับผู้ต้องการมีบุตร และช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการมีบุตรมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อให้คำปรึกษาภาวะมีบุตรยาก ตรวจเพื่อค้นหาสาเหตุภาวะมีบุตรยาก วินิจฉัย รักษาโรคที่เป็นสาเหตุและกระตุ้นไข่และเหนี่ยวนำการตกไข่
ด้าน พญ.สุกัลยา นิมิตสุรชาติ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวและมีการลดลงของเด็กเกิดใหม่ สาเหตุสำคัญของการไม่มีลูก มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่มาจากปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตร เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นนโยบายเร่งด่วนให้ดำเนินการให้สำเร็จภายใน 100 วัน โดยให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตรขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เร็วขึ้น ในอายุน้อยลง เพื่อเพิ่มโอกาสการมีบุตร
พญ.สุกัลยา นิมิตสุรชาติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้อัตราการเกิดของ รพ.ประจวบฯอยู่ที่ปีละ 1.100 – 1.200 ราย ซึ่งถือว่าเป็นระดับกลางๆ ของโรงพยาบาลระดับนี้ และมีศักยภาพของแพทย์ประจำคลินิกส่งเสริมการมีบุตร โดยมีหมอสูตินรีเวชศาสตร์ จำนวน 3 คน และแพทย์เฉพาะทางเรื่องอนามัยเจริญพันธ์ จำนวน 1 คน ซึ่งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร เปิดให้บริการทุกวันศุกร์เวลา 14.00-16.00 น. ณ แผนกสูติ-นรีเวชกรรม ชั้น 3 อาคารผู้ป่วยนอก