เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดงานสัมมนาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงาน และสร้างการรับรู้โครงการจัดทำนโยบาย การวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร สำหรับอาคารสร้างใหม่ และอาคารที่ทำการบูรณะใหม่ (Fiberization in Building Policy) เพื่อวางกรอบนโยบายในการผลักดัน และส่งเสริมให้แต่ละอาคารมีการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร โดยเฉพาะอาคารที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และมีผู้เข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยจำนวนมาก รวมทั้งจัดทำแนวปฏิบัติซึ่งเป็นข้อแนะนำพื้นฐานในการออกแบบ และติดตั้งระบบสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร สำหรับอาคารสร้างใหม่ และอาคารที่ทำการบูรณะใหม่ ในรูปแบบ Fiber-to-the-Home (FTTH) ให้กับเจ้าของอาคาร และผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม ทำให้โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลภายในอาคารมีความพร้อมสำหรับการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วระดับกิกะบิต สามารถรองรับการใช้งานแอปพลิเคชัน บริการดิจิทัล และเทคโนโลยีในอนาคตที่มีความต้องการด้านการรับส่งข้อมูลปริมาณมากด้วยความรวดเร็ว
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การสัมมนาในวันนี้ เป็นการดำเนินงานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีการเชื่อมต่อบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในเกือบทุกพื้นที่ และภาคเอกชนมีการให้บริการแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วในการดาวน์โหลดมากกว่า 300 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) รวมถึงแพ็คเกจระดับ 1 – 2 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการดาวน์โหลดเฉลี่ยที่ผู้ใช้บริการได้รับในเดือน พ.ค. 2566 มีค่า 150 – 250 เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่โครงข่ายสายในส่วนที่อยู่ใกล้ผู้ใช้บริการปลายทางภายในอาคารหรือในพื้นที่ส่วนบุคคลยังเป็นการใช้งานด้วยสายทองแดง ส่งผลให้ผู้ใช้บริการปลายทางที่อยู่ในอาคารไม่สามารถรับส่งข้อมูลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และไม่สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีความต้องการด้านการรับส่งข้อมูลปริมาณมากได้
ทั้งนี้จึงเป็นที่มาของการจัดทำนโยบายการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคารฯ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับการใช้งานในอนาคต (Future Proof) ให้มีความครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการเพิ่มอัตราการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคารเพื่อให้เกิดการนำนโยบายไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งครอบคลุมถึงกระบวนการและหน้าที่ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินนโยบาย การกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายร่วมกันและการอำนวยความสะดวกในการรับบริการ และการส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
“นโยบายการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร สำหรับอาคารสร้างใหม่ และอาคารที่ทำการบูรณะใหม่ (Fiberization in Building Policy) เป็นข้อแนะนำให้เจ้าของอาคารสร้างใหม่ เจ้าของอาคารที่ดัดแปลงอาคารซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม และเจ้าของอาคารเก่าที่ต้องการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร ดำเนินการวางระบบสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร หรือวางโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการติดตั้งระบบสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคารให้แก่ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นอย่างน้อย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่จุดเข้าถึงระบบสายภายในอาคารไปยังจุดสิ้นสุด ที่อยู่ใกล้ผู้ใช้บริการปลายทางในอาคาร โดยครอบคลุมถึงระบบสายสัญญาณหรือข่ายสายภายนอกอาคารที่ติดตั้งในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น การเดินสายสัญญาณภายในหมู่บ้านจัดสรร หรือนิคมอุตสาหกรรม โดยกำหนดประเภทอาคารที่มีข้อแนะนำให้มีการเดินสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคารออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) อาคารหน่วยเดียวประเภทที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว 2) อาคารหน่วยเดียวประเภทไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เช่น อาคารขนาดเล็กสำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม สำนักงาน โรงแรม 3) อาคารหลายหน่วยประเภทที่อยู่อาศัย เช่น คอนโดมิเนียม และหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งมีนิติบุคคลอาคารบริหารจัดการการเดินสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร และ 4) อาคารหลายหน่วยประเภทไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เช่น อาคารขนาดใหญ่สำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม สำนักงาน โรงแรม โดยแนวปฏิบัติในการเดินสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคารฯ ได้แนะนำรูปแบบสถาปัตยกรรมโครงข่ายของระบบสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคารแต่ละประเภท และแนวปฏิบัติขั้นต่ำในการออกแบบ และติดตั้งระบบสายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร เพื่อให้เกิดการเดินสายที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถรองรับปริมาณความต้องการใช้บริการของอาคารในปัจจุบันและในอนาคต และสามารถรองรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมจำนวนหลายรายในการเข้าไปให้บริการภายในอาคาร นอกจากนี้ นโยบายการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคารฯ ได้กำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายร่วมกันและการอำนวยความสะดวกในการรับบริการ เพื่อให้เจ้าของอาคาร และผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม เปิดให้มีการเข้าถึงระบบสายเคเบิลใยแก้วนำแสง โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกในตัวอาคารแก่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่น (Open Access) เพื่อใช้ในการให้บริการแก่ผู้ใช้อาคาร ด้วยเงื่อนไขด้านราคา และด้านบริการที่เป็นธรรม สมเหตุสมผล และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการใช้บริการโทรคมนาคมแก่ผู้ใช้งานภายในอาคาร”
พร้อมกันนี้ ภายในงานได้จัดเวทีเสวนา หัวข้อ “Building a Digital Ready Future” โดยวิทยากรรับเชิญจากสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บจก. หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) และ บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น ได้ร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมภายในอาคารที่รองรับการใช้งานในอนาคต และการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจ