นิกรแนะ เพื่อไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในนามพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อแสดงความเป็นรัฐบาลสมาน ฉันท์ตามที่เคยประกาศ ด้าน ชัยธวัช ไม่ติด เฉลิมชัย นั่งหัวหน้าประชาธิปัตย์ ยันคุยเหมือนเดิม มองการทำงานต้องให้เกียรติกัน หลังมีข่าว ปชป. จ่อเข้าร่วม รบ.แย้มศึกอภิปรายใหญ่แน่ปลายสมัยหน้า อุบซักฟอกแบบไม่ไว้วางใจ หรือทั่วไป ปชป.เลือดไหลไม่หยุด! สาทิตย์-อรอนงค์ โพสต์ลาออกสมาชิกพรรค
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.66 นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมประกบร่างของพรรคก้าวไกล ว่า อันที่จริงจะเรียกว่าเสนอประกบไม่ได้ เพราะเป็นหลักคิดในการดำเนินการทางการเมือง ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองเดิมก็มีปัญหาเรื่องนิรโทษกรรม ทั้งที่จริงเรื่องนั้นจบไปนานแล้ว ดังนั้น จึงเห็นว่าทำไมจึงไม่เสนอในนามพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อประกาศอยู่แล้วว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลสมานฉันท์ แสวงหาความปรองดอง ที่เราสามารถทำได้ชั้นหนึ่งแล้ว คือ สามารถนำพรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามมารวมกันเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้แล้ว ส่วนในรูปธรรม เราก็มาดูแลเรื่องความขัดแย้งต่างๆที่มีอยู่ในสังคมไทย
นายนิกร กล่าวว่า และจริงๆแล้วคำว่านิรโทษกรรม ทุกคนก็แหยงๆอยู่แล้ว หากจะเรียกเป็นอย่างอื่นก็คงได้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในคำที่ถูกใช้กันมายาวนานแล้วเป็นลบ ตนจึงเห็นว่าควรเสนอในนามพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน ในความเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างแท้จริง หรืออีกทางหนึ่งอาจจะเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาศึกษาเรื่องการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคีหรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งเดิมเคยมีคนศึกษามาแล้ว โดยอาจมีการใช้คำว่าความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยมีหลักการว่าผู้กระทำความผิดโดยมีความเชื่อทางการเมือง ซึ่งจะใช้กฎหมายปกติไม่ได้ จึงอาจจะต้องออกกฎหมายมาเป็นพิเศษ ซึ่งในข้อเสนอดังกล่าวเห็นว่าจะต้องเว้นเรื่องที่อ่อนไหว ได้แก่ ความผิดมาตรา 112 และความผิดกฎหมายอาญาที่รุนแรง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา เช่น ความผิดถึงแก่ชีวิต
ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงแนวทางหลังเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่แล้ว ว่า สภาจะเปิดสัปดาห์หน้า พรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะมีการคุยกันใกล้ชิดมากขึ้น ในสมัยประชุมที่แล้ว เราได้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ก็คิดว่าเรารอกระบวนการโปรดเกล้าฯ ผู้นำฝ่ายค้านเสร็จ เมื่อมีผู้นำฝ่ายค้านชัดเจนอย่างเป็นทางการก็ควรจะมีการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการด้วย ตอนนี้เมื่อกระบวนการโปรดเกล้าฯ ยังไม่เรียบร้อย แต่การทำงานในสภาต้องเริ่มแล้ว ก็คิดว่าหลังจากสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จะทำการประชุมร่วมกัน
เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคเป็นนายเฉลิมชัย ศรีอ่อนแล้ว การพูดคุยถือว่าง่ายขึ้นหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ก็คงเหมือนเดิม ไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นท่านใด อย่างไรในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ยังเหมือนเดิม
เมื่อถามว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอุปสรรคในการทำงานของฝ่ายค้านหรือไม่ พร้อมกระแสว่าอาจจะไปร่วมรัฐบาล นายชัยธวัช กล่าวว่า ก็คิดว่าการทำงานร่วมกันต้องให้เกียรติกัน ถ้าเรามัวแต่เกิดความไม่ไว้วางใจต่อกันโดยไม่จำเป็น ตนคิดว่าคงไม่สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีร่วมกัน
ส่วนจะลงอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในช่วงไหน นายชัยธวัช กล่าวว่า สภาเปิดช่วงต้น คงให้ความสำคัญกับการพิจารณากฎหมาย ในสมัยสภาชุดที่แล้วไม่ได้พิจารณาร่างกฏหมายเลย ตอนนี้มีร่างกฏหมายจ่อเข้าสภาอยู่ รวมถึงร่างกฏหมายของฝั่งรัฐบาลและภาคประชาชนด้วย ที่สำคัญจะมีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งคิดว่าเมื่อพิจารณาเสร็จน่าจะช่วงปลายเดือนมีนาคม ก่อนจะปิดสมัยประชุมอีกครั้งในช่วงก่อนสงกรานต์น่าจะทำให้มีเวลาอภิปรายใหญ่ได้ ซึ่งจะเป็นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ คงต้องหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและการทำงานของฝ่ายค้านว่าพร้อมมากแค่ไหน โดยต้องเอาเนื้อหาเป็นหลัก
ส่วนจะมีมูลที่จะทำให้เปิดอภิปรายได้หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ต้องใช้เวลา แต่อย่างไรก็ตามในฐานะฝ่ายค้านก็ควรจะใช้โอกาสในสภาในการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายบริหารให้เป็นประโยชน์ที่สุดกับพี่น้องประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหว ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังจากที่มีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 ปรากฏว่ามีสมาชิกจำนวนหนึ่งได้แสดงความจำนงขอลาออกจากสมาชิกพรรค เช่น นายวิบูลย์ ศรีโสภณ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดชีพตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2541 โดยในหนังสือระบุถึงสาเหตุในการลาออก ว่า1.อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ เปลี่ยนไป เน้นใช้เงินสร้างพรรคและสส.ในสมาชิกพรรค2.หัวหน้าพรรคตระบัดสัตย์ ไม่รักษาคำพูด ไม่สามารถให้การเคารพได้อีกต่อไป3.หัวหน้าพรรคสร้างทัศนคติให้สส.ในพรรคขาดความเคารพ กระด้างกระเดื่องกับอดีตหัวหน้าพรรค สร้างความแตกแยกในพรรค ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอด 77-78ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และอดีตส.ส.ตรัง 7 สมัยโพสต์เฟซบุ๊ค ส่วนตัว ระบุว่า คิดหนักมา 2 วัน แม้ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ แต่ในวันที่จิตวิญญาณประชาธิปัตย์มิอาจเปล่งประกาย หลังหารือทีมงานที่สู้ร่วมกันมากว่า 28 ปี จึงตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยรักและผูกพัน
เช่นเดียวกับ น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ อดีตสส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ภาพ คลิป พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า... " สจฺจํ เว อมตา วาจา ขอบพระคุณท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ ที่เป็นแบบอย่างนักการเมืองที่ดีมาโดยตลอด ยังคงรัก ศรัทธา และเป็นกำลังใจให้ท่านหัวหน้าตลอดไป 25 ปีกับชีวิตนักการเมืองที่ไม่เคยเปลี่ยนพรรค พูดได้เต็มปากว่า เลือดฟ้ามันข้น กรีดมายังงัยก็ฟ้าแน่นอน ตุ๋ยยังคงรักพรรคไม่เสื่อมคลาย แม้วันนี้ต้องตัดสินใจที่ฝืนความรู้สึก ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรคที่รักที่สุด แต่จะไม่ไปไหน ยังคงอยู่ตรงนี้ เฝ้ามองด้วยความหวังดีและห่วงใยตลอดไปค่ะ"
วันเดียวกัน รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.66 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มีหนังสือคำสั่งที่ ยธ.07043/41135 เรียน ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน ผู้อำนวยการสถานกักขัง ผู้อำนวยการสถานกักกัน และ ที่ ยธ.07043/41138 เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ระบุว่า ด้วยกรมราชทัณฑ์ได้ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง ในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 โดยสาระสำคัญของระเบียบนี้เป็นการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังแต่ละประเภทและ การอื่นตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2560" ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป ข้อ 3 ในระเบียบนี้ "สถานที่คุมขัง" หมายความว่า สถานที่คุมขังตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ "ผู้กำกับสถานที่คุมขัง" หมายความว่า ผู้บัญชาการเรือนจำที่ทำหน้าที่กำกับสถานที่คุมขัง
"ผู้ดูแลสถานที่คุมขัง" หมายความว่า (1) ข้าราชการ พนักงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอธิบดีมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแลและรับผิดชอบผู้ต้องขังชื่งได้รับอนุญาตให้ไปคุมขังในสถานที่คุมขังหรือ (2) เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่คุมขัง ซึ่งได้ให้ความยินยอมและยอมรับที่จะปฏิบัติตาม เงื่อนไขที่รวมถึงคำแนะนำของเจ้าพนักงานตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ "คณะทำงาน" หมายความว่า คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง "อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ข้อ 4 ให้มีคณะทำงานคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง" ประกอบด้วย รองอธิบตีที่กำกับดูแลกองทัณทวิทยาเป็นประธาน ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา ผู้อำนวยการกองทัณฑปฏิบัติ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพฤตินิสัย ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์ และผู้อำนวยการ
กองกฎหมาย และบุคคลภายนอกซึ่งอธิบดีแต่งตั้งจากบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวซาญทางต้านสาธารณสุข 1 คน และด้านสังคมสงเคราะห์หรืออุตสาหกรรม 1 คน เป็นคณะทำงาน โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรการ ควบคุมผู้ต้องขัง สังกัดกองทัณฑวิทยา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และข้าราชการสังกัดกองทัณทวิทยา ที่ได้รับมอบหมายอีกไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ให้คณะทำงานตามวรรคหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1 ) พิจารณากลั่นกรองการให้ผู้ต้องขังรายใตคุมขังในสถานที่คุมขัง และการเพิกถอนการคุมขัง เสนอต่ออธิบตีเพื่อพิจารณาอนุมัติ (2) เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่นเกี่ยวกับการคุมขังในสถานที่คุมขังต่ออธิบดี การประชุมของคณะทำงานตามวรรคหนึ่งต้องมีคณะทำงานมาประขุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะทำงานทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก คณะทำงานคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ข้อ 5 ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ รวมตลอดถึงการออกหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้
สำหรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 มีการกำหนดรายละเอียดต่างๆไว้ 6 หมวด ดังนี้ หมวด 1 สถานที่คุมขัง หมวด 2 คุณสมบัติผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณาให้ออกไปคุมขังยังสถานที่คุมขัง หมวด 3 การพิจารณา หมวด 4 การคุมขังในสถานที่คุมขัง หมวด 5 การเพิกถอนการคุมขังในสาถนที่คุมขัง หมวด 6 เบ็ดเตล็ด