‘ชัยธวัช’ ชี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยึดโยงปชช.-ตอบโจทย์การเมืองปัจจุบัน แนะ ควรรวมโจทย์จากทุกฝ่ายหาฉันทามติร่วม ลั่น รัฐประหารไม่ใช่คำตอบ ประชาธิปไตยคุณภาพไม่มีทางลัด เหน็บ องค์กรที่ตรวจสอบคนอื่นกลายเป็นใช้อำนาจฉ้อฉลเอง
เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่รัฐสภา มีการจัดงานวันฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี 2566 “ร่วมก้าวย่างบนประชาธิปไตย สู่เส้นชัยรัฐธรรมนูญ” ช่วงหนึ่งมีการจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร“ มีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.), นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.), นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรค ก.ก., นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้แทนกลุ่มไอลอว์ โดยมีนายเกรียงไกร หอมจันทร์เทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ มีประชาชนเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
นายชัยธวัชกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีสองส่วนสำคัญ ประการแรก ต้องยึดโยงกับหลักอำนาจสถาปนาเป็นของประชาชนให้มั่น กระบวนการทำประชามติที่มาจาก ส.ส.ร. ต้องยึดโยงกับหลักการนี้ พรรค ก.ก. ต้องการให้ทำประชามติทั้ง 3 ครั้ง การทำประชามติครั้งแรกสำคัญ เพราะหากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ข้อเสนอต่างๆ จากพรรคการเมืองก็ถือว่าได้รับอำนาจจากประชาชน เมื่อ ส.ส.ร. ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ก็ควรทำประชามติอีกรอบ แม้จะเสียทั้งเงินและเวลาแต่ก็ต้องให้ความสำคัญ
ประการที่สอง ทั้งกระบวนการและเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรตอบโจทย์สภาพการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน เพราะเราต้องยอมรับว่าเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เราไม่สามารถที่จะหาฉันทามติร่วมกันได้ ดังนั้น การที่เราจะเห็นตรงกันเราอยู่กันได้อย่างมีความแตกต่างอยู่ ถือเป็นโจทย์ที่สำคัญที่จะเชื่อมโยงตั้งแต่การออกแบบกระบวนการต่างๆ ซึ่งไม่ควรมีการกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า เราควรออกแบบกระบวนการให้ตอบโจทย์ เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สร้างฉันทามติในสังคม ฉันทามติในทางการเมืองครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ที่เป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่หลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ซึ่งเสริมสร้างให้ระบบการเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับถูกฉีกในปี 2549 ในเวลาไม่ถึง 10 ปี โจทย์เก่าที่คิดว่ามีคำตอบแล้วกลับยังไม่มีคำตอบ และเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปีนั้น ก็ยิ่งเพิ่มโจทย์ใหม่ๆ มา หากจะสร้างฉันทามติครั้งใหม่ ก็นำโจทย์จากแต่ฝ่ายเป็นตัวตั้ง เพื่อออกแบบร่วมกัน
“โจทย์แรก ต้องยอมรับว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบ แม้แต่ฝ่ายที่ยอมให้เกิดรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองเฉพาะหน้า ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะได้คำตอบแล้วว่า ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ไม่มีทางลัด”
นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรออกแบบเพื่อป้องกันการเกิดรัฐประหาร และต้องคำนึงถึงการลบล้างความผิดในการรัฐประหารในอดีตด้วย โจทย์ที่สอง ต้องออกแบบให้มีการแข่งขันอย่างมีคุณภาพ ในระบบรัฐสภาของพรรคการเมือง
“โจทย์ที่สาม ในปี 2540 เราเคยออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก และคิดว่ากลไกในการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจจะสามารถถ่วงดุลได้ ปรากฏว่ากลไกที่ออกแบบ เพื่อตรวจสอบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ให้ฉ้อฉล กลายเป็นองค์กรที่ฉ้อฉลในการใช้อำนาจเสียเอง เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องมีกลไกมาตรวจสอบผู้ใช้อำนาจ แต่คนที่มาตรวจสอบคนอื่น จะถูกตรวจสอบได้อย่างไร และมีอะไรที่ยึดโยงกับประชาชนได้บ้าง”
ทั้งนี้ ภายหลังที่นายชัยธวัชกล่าวประโยคนี้เสร็จ มีประชาชนจำนวนหนึ่งส่งเสียงเฮร้องและปรบมืออย่างถูกใจ
อย่างไรก็ตาม นายชัยธวัช กล่าวทิ้งท้ายว่า โจทย์สุดท้าย เราจะออกแบบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่อย่างไร นี่เป็นโจทย์ทั้งหมดที่เราควรคิด เพื่อใช้โอกาสนี้ในการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสร้างฉันทามติใหม่ให้กับสังคมไทย