นายกฯ ตอกย้ำการแก้ไข รธน.ถือเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ ทุกฝ่ายต้องช่วยผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปชป.เผยจุดยืนแก้รธน.ต้องนำไปสู้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ย้อนศร นายกฯ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยผลักดัน ยกเว้นรัฐบาลหรือไม่ ด้าน"นิกร"เผยไทม์ไลน์ทำประชามติ เตรียมนัด "อนุกรรมการ" สรุป 22 ธ.ค.นี้

     
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.66  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ทวิตข้อความผ่านแอปพลิเคชัน X ระบุว่า 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญของประเทศไทย รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีหน้าที่ทำให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน  การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจใหญ่จะอาศัยเพียงพลังของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่ทุกๆ ภาคส่วนในสังคมจะต้องช่วยกันผลักดันเพื่อให้เราไปถึงเป้าหมายนั่นคือ การมี รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ครับ
 
ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวถึงการรวบรวมความเห็น ในการทำประชามติ เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ว่า ความเห็นที่สำคัญของพรรคการเมือง เรารวบรวมมาหมดแล้ว ยังเหลือการรับฟังความคิดเห็นที่สำคัญคือสมาชิกรัฐสภา ตนได้เรียนกับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วว่า ในวันที่ 13-14 ธ.ค.จะรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา วันที่ 18-19 ธ.ค. จากนั้นในวันที่ 20 ธ.ค. จะนำความเห็นไปวิเคราะห์ และวันที่ 22 ธ.ค. จะมีการนัดคณะอนุกรรมการฯ เพื่อสรุปเป็นรายงาน ซึ่งวันที่ 25 ธ.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีการนัดประชุมคณะคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อหาข้อสรุป แล้วหลังจากนั้น ในช่วงสิ้นปี จะนำเสนอสู่สภาฯ
     
นายนิกร กล่าวอีกว่า ยังมีเรื่องที่ค้างอยู่ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แม้ กกต. จะแสดงความเห็นต่อกรรมการแล้ว แต่อยากได้มติจากบอร์ด กกต. รวมถึงอยากได้ความเห็นอื่น เช่น สามารถดำเนินการทำประชามติร่วมกับการเลือกตั้งอื่นๆ ได้หรือไม่ ยอมรับว่าเรื่องการทำประชามติเป็นปัญหาอยู่จริง โดยในวันพรุ่งนี้ ตนได้เชิญคณะกรรมการ 10 กว่าคน ไปสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เพราะประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการทำประชามติ เราจะไปถามว่า การทำประชามติโดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเยอะ ทำอย่างไร เนื่องจากการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายปฏิรูป ซึ่งการแก้ลักษณะดังกล่าว จะต้องเสนอโดยครม.เท่านั้น
     
ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำประชามติจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้าหรือไม่ นายนิกร กล่าวยืนยันว่า ไม่ช้า เพราะใช้รัฐสภาประชุมร่วม จะไม่ใช้ช่องทางกฎหมายธรรมดา ที่ส่งไปสภาฯ ก่อน แล้วค่อยส่งไปวุฒิสภา สำหรับการประชุม ในวันที่ 25-26 ธ.ค.นี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า เราจะสรุปอย่างไร ซึ่งตนก็ยังรอความเห็นของสมาชิกรัฐสภาอยู่ เพราะเขาไม่ได้ตอบในฐานะประชาชน แต่ตอบในฐานะผู้ลงคะแนนหากมีการเสนอกฎหมาย
     
ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเนื่องในวันรัฐธรรมนูญซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธ.ค. ว่า พรรคประชาธิปัตย์ขอร่วมระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทย เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ดังนั้น ในวันที่ 10 ธ.ค.ของทุกปีถือว่ามีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์
       
"ในส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การระลึกถึงวันสำคัญก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งสำคัญที่มีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันคือการผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง"
    
 นายราเมศ กล่าวต่อว่า ขณะนี้อุปสรรคในการขอแก้รัฐธรรมนูญยังมีอยู่ จึงทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จสู่เป้าหมายได้ พรรคประชาธิปัตย์นั้น มีเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหัวใจสำคัญของการนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น คือการแก้มาตรา 256 เพื่อให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น
     
โดยตัดสัดส่วนของสมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) ให้เหมาะสม แล้วใช้เสียงส่วนใหญ่จากสภา เพราะหากกำหนดให้ส.ว. เห็นชอบด้วยในวาระที่ 1 และที่ 3 เป็นจำนวน 1 ใน 3 ทำให้ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นจำนวนมากถึง 84 คน จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญได้ ดังนั้นการแก้มาตรา 256 จึงมีความสำคัญมาก ซึ่งพรรคฯหลักการยังเป็นเช่นเดิม และมีหลักการชัดว่าไม่ว่าจะมีการยกร่างใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องไม่แตะ หมวด 1หมวด 2
    
 นายราเมศ  ยังกล่าวด้วยว่า ความจริงรัฐธรรมนูญฉบับนี้นอกจากสิทธิของประชาชนลดน้อยถอยลงแล้ว ที่กล่าวอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงก็ไม่เป็นความจริง เพราะกระบวนการที่เป็นหลักการพื้นฐานในการป้องกันการทุจริตไม่ได้มีหลักประกันไว้ในรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด พรรคประชาธิปัตย์ได้มองเห็นถึงปัญหาเหล่านี้มานาน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงเป็นที่มาที่พรรคไม่ได้รับรัฐธรรมนูญฉบับปี 60
      
 "แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการลงประชามติ บังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ พรรคก็ยอมรับกติกา และตั้งความหวังว่าจะมีการแก้ไขในวันข้างหน้า โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิของประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม สิทธิ์ในที่ดินทำกิน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นการป้องกันและปราบปรามทุจริตจะต้องมีกระบวนการที่ป้องกันการทุจริตจริงๆ ไม่ใช่เปิดช่องให้สมยอมกัน รวมถึงประเด็นอำนาจ ส.ว.ด้วย ซึ่งทุกเรื่องล้วนเป็นสาระสำคัญที่จะต้องมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในการตั้งต้นแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ"
     
 ที่นายกฯ กล่าวว่าทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้น ก็ต้องย้อนถามนายกฯ ว่าทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันนั้นความหมายคือยกเว้นรัฐบาลที่ยังไม่พร้อมใช่หรือไม่ เพราะคำพูดล้วนแล้วแต่สวนทางกับข้อเท็จจริงที่ประชาชนมองออกมาว่ารัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจต่อกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด