สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…
สยบทุกข่าวปั่น เคลียร์ทุกกระแสแซะ เกี่ยวกับการเข้ารับตำแหน่งองคมนตรีของ “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี หลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี นำ พลเอกประยุทธ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นองคมนตรีเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ …*…
ทั้งยังเป็นการปิดปากชนชั้นอีลิทบางกลุ่มที่ตั้งหน้าตั้งตาวิพากษ์วิจารณ์พลเอกประยุทธ์ในแง่ลบต่อจุดยืนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด ขณะที่อีลิทกลุ่มนี้กลับมีพฤติกรรมย้อนแย้ง เพราะมักอวดอ้างความจงรักภักดีเหนือใครๆ แต่ดันมีจุดยืนเคียงข้างพรรคการเมืองที่มีทัศนคติอันตรายต่อสถาบัน ซ้ำยังมักโจมตีให้ร้ายผู้ที่ออกมาเปิดหน้าชนขบวนการจาบจ้วงเบื้องสูง …*…
ส่วนที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่อวดภูมิด้านกฎหมาย ตั้งข้อสังเกตุต่างๆ นานา เกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นองคมนตรีตามที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และนางสาวเบญจา แสงจันทร์ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกลรับลูกต่อมาขยายความในโลกโซเชียล โดยทวิตตั้งคำถามว่าการตั้งพลเอกประยุทธ์ เป็นองคมนตรี โดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ อาจจะเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่? เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ “ประธานรัฐสภา ประธานองคมนตรีต้องเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น มีคำตอบที่ฟังแล้วเห็นแจ้ง ไม่ต้องมาตีความใดๆ อีกจากนายพายุ เนื่องจำนงค์ นักการเมืองหนุ่มใต้ร่มธงพรรคประชาธิปัตย์ว่าอย่างแรกที่สุดต้องทำความเข้าใจก่อนว่า องคมนตรี คือ “ข้าราชการในพระองค์” ตาม พ.ร.ฎ.จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ไม่ใช่ “ข้าราชการทั่วไป” ที่มารับใช้พระองค์ ดังนั้น พระองค์ทรงใช้การแต่งตั้งตามนัยยะของรัฐธรรมนูญ มาตรา 15 การแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และตามหลักการนั้น: “ผู้รับสนอง” ก็คือ “ผู้เสนอ” แต่กรณีนี้เนื่องจากเป็นแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย ไม่มีผู้ใดทำเรื่องเสนอ ทำให้การแต่งตั้งองคมนตรีดังกล่าว ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ประธานองคมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ...*...
สำหรับคณะองคมนตรีในปัจจุบันมีพล.อ.สุรยุทธ์ เป็น ประธานองคมนตรี และองคมนตรีอีก 18 ท่านประกอบด้วย1. นายเกษม วัฒนชัย เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 (2544 – 2559) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (2544) 2. นายพลากร สุวรรณรัฐ เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 (2544 – 2559) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ (2541 -2544) 3. นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 (2550 – 2559) และประธานศาลฎีกา (2545 – 2547) 4.นายศุภชัย ภู่งาม เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 (2551 – 2559) และประธานศาลฎีกา (2547 –2548) 5. พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ดำรงตำแหน่ง เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 (2554 – 2559) และผู้บัญชาการทหารอากาศ (2548– 2551) 6. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (2558 – 2559) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2557 – 2558) 7. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (2557 – 2559) และ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (2557 – 2558) 8. นายจรัลธาดา กรรณสูต เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ (2552 – 2559 ) และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2550) 9. พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ เคย ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (2558 – 2559) 10. พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ รองปลัดกระทรวงกลาโหม (2559 – 2560) 11.นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ เลขาธิการพระราชวัง (2559-2561) 12.นายอำพน กิตติอำพน เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2553 – 2559) และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2547- 2553) และอดีตรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2545-2547) 13. พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ลงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (2556-2558) และผู้บัญชาการทหารบก (2559-2561) 14. พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญอาทิกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (2561) และผู้บัญชาการทหารอากาศ (2559-2561) 15. นายนุรักษ์ มาประณีต เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (2557 – 2563) 16. นายเกษม จันทร์แก้ว เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญอาทิที่ ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) (5 มี.ค.2523 -14 เม.ย. 2524) และอธิบดีกรมป่าไม้ (15 ก.ย.2531 – 26 ต.ค.2531) 17. พล.อ.บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์ เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิ ราชองครักษ์พิเศษ (2538-2565) และผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (2538-2541) และ 18. พล.อ.ประยุทธ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และอดีตผู้บัญชาการทหารบก ...*...
โดยมี 5 ท่านเคยเป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อพ้นจากตำแหน่งก็ได้รับการแต่งตั้ง เป็นองคมนตรี คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร, พล.อ.สุรยุทธ์และ พล.อ.ประยุทธ์
ที่มา:เจ้าพระยา (07/12/66)