เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ครั้งที่ 1/2566 โดยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ทำหน้าที่อนุกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน พิจารณาให้ข้อเสนอแนะและเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานตามมาตรการเร่งด่วนที่จะรับมือในช่วงวิกฤตสถานการณ์ฝุ่นละอองและการสื่อสารประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะ

นายจตุพร กล่าวว่า การเตรียมการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปีนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และท่านกล่าวว่าได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและการตอบโจทย์ทั้ง 3 มิติ คือ การมีแนวปฏิบัติเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ชัดเจน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล รวมถึงข้อเสนอจากภาคประชาสังคม การมีโครงสร้างคณะกรรมการแต่ละชุดที่กำกับติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และการมีกฏหมาย พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ...ซึ่ง ครม.อนุมัติหลักการไปแล้ว ทั้งหมดนี้ ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมกันปฏิบัติอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถทำให้ฝุ่นละอองหมดลงไปได้ แต่จะทำให้ลดน้อยลงอย่างมาก

นายจตุพร กล่าวว่า ในการประชุม คณะอนุกรรมการฯ ได้เร่งรัดดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนการลดไฟในป่า 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ ลง 50% กำชับจัดทำแผนที่แสดงจุดตรวจ/จุดสกัด จุดเฝ้าระวังไฟป่า จัดชุดลาดตะเวน และหารือร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้ง หารือกรมปศุสัตว์ไม่ให้มีการเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ป่า สื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้ชัดเจน การลดไฟในพื้นที่เกษตรกรรม ลง 50 % มอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมการเผาในพื้นที่ปลูกข้าวโดยเฉพาะจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานคร การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูง เสนอแผนการปรับเปลี่ยนชนิดพืชปลูกเป็นแบบไม่เผาให้ชัดเจน แต่ละจังหวัดต้องมีการลงทะเบียนเกษตรกรและจำนวนพื้นที่เพาะปลูกทั้งในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่าเพื่อทำปฏิทินและเงื่อนไขในการบริหารจัดการเชื้อเพลิง หากไม่ลงทะเบียนให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ และจะขอความร่วมมือภาคเอกชนไม่รับซื้อพืชผลการเกษตรจากการเผา มอบกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายลดอ้อยไฟไหม้เข้าหีบให้น้อยที่สุด เพิ่มความเข้มงวดโดยเฉพาะ 5 จังหวัดที่มีปริมาณอ้อยไฟไหม้สูงสุด กรณีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่ง กอ.รมน. ได้วางแผนการจัดตั้งศูนย์รับซื้อ ขอให้พิจารณาที่ตั้งใกล้พื้นที่ป่า/พื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซาก เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง การควบคุมฝุ่นในเขตเมือง นอกจากตรวจจับควันดำอย่างเข้มงวด ให้พิจารณาการตรึงพื้นที่ลดจำนวนรถบรรทุกและรถโดยสารเข้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในในช่วงวิกฤต การจัดหาพื้นที่จอดแล้วจรใกล้สถานีรถไฟฟ้าเพื่อลดปริมาณการจราจร

ในการดำเนินงานจะมีศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ทำหน้าที่สื่อสารสถานการณ์ การคาดการณ์ฝุ่นละออง ข้อแนะนำการปฏิบัติตน และผลการดำเนินงานสู่สาธารณะให้ประชาชนรับทราบ และยังทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อรายงานข้อมูลและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง แหล่งกำเนิด พื้นที่วิกฤต ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาให้แก่ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ ให้ยกระดับการกำกับดูแลควบคุมแหล่งกำเนิดและจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) 

"ในเรื่องงบประมาณ ได้มอบหมายให้หน่วยงานเสนอโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อขอรับการจัดงบกลาง ปี 2567 และตั้งแต่ปี 2568 จะเสนอโครงการในลักษณะแผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้มีการหารือเพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองโดยการให้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดความรวดเร็วทันกับสถานการณ์" นายจตุพรฯ กล่าว