“สมศักดิ์” เปิดงานเชื่อมความสัมพันธ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ”ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์” พัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ โชว์ มีสัญญาณดีหลัง”นายกฯเศรษฐา”เยือนมาเลเซีย เตรียมยกระดับการค้าชายแดน-ความมั่นคง ปลื้ม มีนักธุรกิจทั้ง 3 ประเทศ ปิดดีลในงานสำเร็จ

วันที่ 2 ธันวาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน”มหกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ระหว่างประเทศคาบสมุทรมลายูภาคใต้ อนุภูมิภาคไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์” พร้อมกล่าวปฐกถาพิเศษ “ทิศทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมี นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นักธุรกิจจากประเทศไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ เข้าร่วมที่โรงแรมคริสตัลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า การพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำการพัฒนา โดยได้เดินทางเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ ตนได้ดำเนินการตามนโยบาย ซึ่งได้เข้าพบรองนายกฯประเทศมาเลเซีย 2 คน รวมถึงมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง จำนวน 4 กระทรวงอยู่ด้วย โดยได้หารือเรื่องด่านสะเดา ที่ยังแก้ปัญหาทางทางฝั่งมาเลเซียไม่ได้ ซึ่งจากการพูดคุยวันนี้และจากการที่นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยเบื้องต้นแล้ว ได้มีข้อตกลงในการแก้ปัญหาของทั้ง 2 ประเทศแล้ว โดยมีเงื่อนไขยกระดับด้านการค้าชายแดน การท่องเที่ยว การเกษตร และความมั่นคง รวมถึงการหารือ การแก้ไขปัญหาส่งออกสินค้าเกษตร ให้ดำเนินการเป็น One Stop Service ทั้งการผ่านด่าน การกักกันต่างๆให้ร่นระยะเวลา

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการหารือกับมาเลเซีย ได้มีข้อแนะนำ 5 ข้อในการแก้ไขปัญหาความมั่นคง 1.ให้ดำเนินการเพิ่มหลักสูตรสายอาชีพในการศึกษาด้านศาสนา 2.สนับสนุนนักธุรกิจมาเลเซียจัดตั้งโรงงานในไทย จากการ matching ระหว่างผู้ประกอบการทั้ง 2 ประเทศ 3.ดันการพัฒนาเมืองคู่ขนาน Twin city โดยจะเรียกผู้แทน 5 รัฐที่ติดกับไทยมาคุยทันที 4.การวางแผนการจัดการภัยพิบัติพื้นที่ร่วมชายแดนไทยมาเลเซีย  และ 5.ในเรื่องความมั่นคง จะให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผู้เห็นต่างจากรัฐ ในกรณีของการเข้าเมือง เพื่อหลบหนี ข้อกฎหมายจากการกระทำผิดกฎหมายในประเทศ รวมถึงความร่วมมือแก้ไขปัญหายาเสพติด และความมั่นคงอื่นๆ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันต่อไป ส่วนการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ขณะนี้ในจังหวัดชายแดนใต้ ยังมีอีก 20 อำเภอ ที่เป็นเขตประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งในส่วนของการดำเนินการ หลายภาคส่วนก็ต้องการอยากให้ยกเลิก แต่การยกเลิกนั้น ถ้าหากทำไปโดยไม่มีเหตุผล ความยั่งยืนก็ไม่เกิดขึ้นแน่

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการตอบสนองผู้ประกอบการ ในการ matching นักธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลายผู้ประกอบสามารถปิดดิวได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น ไทย-มาเลเซีย ไทย-สิงคโปร์ หรือ ธุรกิจไทยกับไทย โดยความสำเร็จในวันนี้ มาจากความเชื่อมั่นจากการเจรจา พบปะของนายกรัฐมนตรีของไทยและมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ตนและคณะได้เดินทางไปกัวลาลัมเปอร์ เพื่อพบรองนายกรัฐมนตรี 2 ท่าน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง 4 กระทรวงของประเทศมาเลเซีย พบว่า มาเลเซียสนใจร่วมลงทุนกับไทยและนักธุรกิจชายแดนใต้ รวมถึงสนใจในการนำสินค้าไทยไป packaging ใหม่ เพื่อประทับตราฮาลาลมาเลเซีย เพราะเป็นประเทศที่ได้รับตราฮาลาลถูกต้องตามหลักศาสนา มาก่อนประเทศไทย เราจึงจำเป็นต้องดำเนินการตามเครื่องหมายฮาลาลของมาเลเซียไปก่อน ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศจัดตั้งกองฮาลาลขึ้นแล้ว เพื่อดำเนินการฮาลาลของไทยให้เป็นที่ยอมรับ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนการพัฒนาเมืองชายแดน ที่ ศอ.บต. เสนอผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เพื่อจัดทำเมืองคู่ขนาน ไทย-มาเลเซียนั้น พบว่า สอดคล้องกับแนวคิดของประเทศมาเลเซียที่จะยกระดับการพัฒนาชายแดนของทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน การค้าชายแดน ลดขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองเฉพาะของทั้ง 2 ประเทศ เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียมีความกระตือรือร้นในการส่งเสริมเมืองคู่แฝดเป็นอย่างมาก

ขณะที่ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงการจัดมหกรรมเชื่อมสัมพันธ์ฯ ครั้งนี้ว่า จัดขึ้นเพื่อเปิดตลาดสินค้าบริการฮาลาลของจังหวัดชายแดนใต้ ให้สามารถกระจายสินค้าได้ทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ระหว่างคาบสมุทรมลายูภาคใต้ อนุภูมิภาคไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ พร้อมสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนใต้ แนวทางยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาพื้นที่ของรัฐบาล ทั้งนี้ ได้รับผลตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วม Matching และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งานครั้งนี้จะสามารถสานต่อความร่วมมือทางธุรกิจ สร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และประเทศ