สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

ฟังดูดีกับถ้อยแถลงของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบที่ว่า รัฐบาลมีความตั้งใจอยากจะแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อเรียกคืนชีวิตความเป็นอยู่ และคืนศักดิ์ศรีให้กับพี่น้องคนไทยทุกคน หลังปัญหาหนี้นอกระบบได้กัดกร่อนสังคมไทยมาเป็นเวลานาน และสร้างความเดือดร้อน ให้แก่ประชาชนอย่างมาก โดยรัฐบาลมีความตั้งใจอยากจะแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง เพื่อเรียกคืน ชีวิตความเป็นอยู่ และคืนศักดิ์ศรี ให้กับพี่น้องคนไทยทุกคน …*…

 “หนี้นอกระบบ กระทบต่อทุกคน เป็นส่วนทำให้ระบบเศรษฐกิจเปราะบาง บางคนใช้หนี้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด ทำให้ปิดโอกาสต่อยอด ไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ เป็นโดมิโนเอฟเฟกต์ไปทุกภาคส่วน” นายกฯระบุ …*…

กระนั้น การแก้ปัญหา “หนี้นอกระบบ “ไม่มีทางสำเร็จ หากไม่มีการทำควบคู่ไปกับการแก้ “หนี้ในระบบ” ทั้งนี้เนื่องด้วยในความเป็นจริงแล้ว บรรดาคนเล็กคนน้อยที่เป็นหนี้นอกระบบ ส่วนใหญ่หากไม่ใช่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ ก็เพราะมีปัญหาการชำระหนี้เงินกู้ในระบบที่มีอยู่แล้ว จนต้องยอมหันไปพึ่งพาการกู้นอกระบบที่โหดทั้งดอกเบี้ย และรูปแบบการทวงหนี้ …*…

ฉะนั้น ระหว่างที่รัฐบาลหมายมั่นสร้างผลงานล้างหนี้นอกระบบ ก็ต้องช่วยให้ลูกหนี้ในระบบ “อยู่ได้” ด้วยการเข้ามาดูแลเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้ออกไปให้นานขึ้น เหมือนอย่างช่วงเกิดวิกฤติโควิด …*…

ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันที่ลูกหนี้ในระบบกำลังจะเผชิญในอีกไม่กี่วันข้างหน้า คือการที่สถาบันการเงินต่างๆ เพิ่มอัตราการเรียกชำระหนี้บัตรขั้นต่ำจากเดือนละ 5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 8 เปอร์เซ็นต์ในปีหน้าโดยข้ออ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย …*…

ทั้งนี้ ตัวเลข 3 เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นนี้ เมื่อคำนวณออกมาเป็นตัวเงินไม่ใช่น้อยๆ เช่น จากคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิตอยู่ 1 แสนบาท จากที่เคยสามารถเลือกผ่อนชำระขั้นต่ำเดือนละ 5 พันบาท กลายเป็นต้องชำระเพิ่มเป็น 8 พันบาท เมื่อบวกกับต้นทุนค่าครองชีพอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแผนการปรับเงินเดือนข้าราชการ และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล นั่นหมายถึงภาระในแต่ละเดือนจะสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เท่าเดิม …*…

 แน่นอน เมื่อเงินไม่พอใช้ และจำเป็นต้องรักษาเครดิตกับสถาบันการเงิน ป้องกันไม่ให้ถูกขึ้นแบล็คลิสต์ ก็ไม่มีทางเลือกอื่น จำเป็นต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบ ทำให้เงินกู้นอกระบบไม่มีวันหมดสิ้นไปจากประเทศไทย หรือแม้แต่ลดน้อยถอยลง ...*...

เรื่องการแก้หนี้นอกระบบจึงต้องคิดใหม่ทำใหม่ หากอยากเห็นผลอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ทำกันแบบลูบหน้าปกจมูกไปเรื่อย ...*...

และรัฐบาลต้องทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหันมาคุยภาษาเดียวกันกับรัฐบาลให้ได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อวางมาตรการช่วยเหลือต่อลมหายใจให้กับลูกหนี้ในระบบ ไม่ใช่ซ้ำเติมให้เดือดร้อนหนักจนต้องหันไปกู้เงินนอกระบบ ที่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาล ...*...

ที่มา:เจ้าพระยา (30/11/66)