วันที่ 30 พ.ย. 2566 ที่อาคารรัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี นายสมชาย แสวงการ สว. แสดงจุดยืนไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอ เนื่องจากมีเนื้อหานิรโทษกรรมให้คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เราก็ยินดีพูดคุยกับทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และรับฟังความเห็นของนายสมชาย แต่ขอชี้แจงว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ได้ระบุฐานความผิดอย่างเฉพาะเจาะจงสำหรับคดีที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม เพียงกำหนดไว้ในเชิงหลักการว่าเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจมาจากความขัดแย้งทางการเมือง เพราะการระบุฐานความผิดอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในเชิงปฏิบัติ
"ยกตัวอย่าง การฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน อาจมีบางกรณีที่เป็นการฝ่าฝืนโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง แต่ก็มีบางกรณีที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง การจะระบุฐานความผิดที่เฉพาะเจาะจงคงเป็นเรื่องที่ยาก จึงใช้กลไกในการตั้งคณะกรรมการที่มีหลายภาคส่วนขึ้นมาพิจารณาเป็นรายกรณีไป ว่ากรณีใดที่เข้าข่ายมีมูลเหตุจูงใจจากความขัดแย้งทางการเมือง" นายพริษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ได้ระบุ 3 ข้อยกเว้นที่ไม่เข้าข่ายการได้รับนิรโทษกรรม ตามข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย คดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมอย่างเกินขอบเขตโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คดีที่สร้างความอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย และคดีที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113
ในแง่เสียงโหวตในรัฐสภานั้น นายพริษฐ์ มองว่า กรณีนี้จะต่างจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องใช้เสียงโหวตจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา แต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป็นการพิจารณาทีละสภา หากสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบทั้ง 3 วาระ ก็จะเป็นขั้นตอนของวุฒิสภาที่จะให้ความเห็นชอบหรือยับยั้งร่างกฎหมาย ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็มีสิทธิ์ยืนยันความเห็นได้ และอาจมีการพูดคุยกัน
"หวังว่าเราจะได้ใช้กลไกรัฐสภาในการหาข้อสรุป อันเป็นที่ยอมรับของทุกๆ ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่ปัจจุบันเห็นด้วย และฝ่ายที่อาจจะยังขัดข้อง เราพร้อมมากในการเดินสายพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อรับฟังความเห็นต่าง" นายพริษฐ์ กล่าว