วันที่ 30 พ.ย.66 นายประยุทธ เพชรชคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันเปิดเผยผลการพิจารณาคดีสั่งฟ้องนายปวีณ จันทร์ทร์คล้าย หรือกำนันนก แบ่งเป็น 2 สำนวน ได้แก่ คดีฆาตกรรม พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและจ้างวานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา มีผู้ต้องหาคือนายหน่อง หรือธนันชัย หมั่นมาก ผู้ต้องหาที่ถูกตำรวจวิสามัญ และกำนันนก โดยอัยการสำนักงานคดีอาญามีความเห็นให้สั่งฟ้องกำนันนก ตามที่พนักงานสอบสวนเสนอมา ส่วนนายหน่อง เนื่องจากถูกวิสามัญจึงมีคำสั่งยุติคดี
ส่วนสำนวนที่ 2 เป็นสำนวนกล่าวหา ตำรวจและพลเรือน รวม 28 คน ที่อยู่ในเหตุการณ์ ขณะที่มีการยิงพ.ต.ต.ศิวกร สายบัว ในความเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต มีความเห็นสั่งฟ้องตำรวจ ได้แก่ พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ สมสุข กับพวก และพลเรือน รวม 23 คน ในข้อหาแตกต่างกันไป ซึ่งรวม 6 คนแรกที่ถูกจับดำเนินคดี เป็นกลุ่มที่ขับรถพากำนันนกหลบหนี และมีการทำลายพยานหลักฐาน ส่วนพลเรือน โดนข้อหาสนับสนุนเจ้าพนักงานในการกระทำความผิด รวมถึงกำนันนกด้วย
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พนักงานอัยการนำตัวตำรวจและพลเรือนรวม 23 คน ส่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว โดยกำนันนกถูกฟ้องทั้ง 2 ศาล คือ ศาลอาญาและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยอัยการจะเสนอศาลให้นับโทษทั้ง 2 สำนวนต่อกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ศาลใดจะตัดสินคดีใดก่อน
นอกจากนี้ ยังมีตำรวจ 5 นาย ที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ได้แก่ พ.ต.อ.กฤษฎาพร จงอักษร อดีตผกก.สน.พญาไท ร.ต.อ.ณัฏฐพล นาคกร พ.ต.ท.ภทร วรญาวิสุทธิ์ พ.ต.อ.ภาณุทัต เหลืองสัจจกุล และร.ต.ท.มนัต จันทร์มีทรัพย์ เนื่องจากพนักงานอัยการเห็นว่าจัดอยู่ในกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นพาผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล หรือสนับสนุนช่วยเหลือในด้านต่างๆ ไม่ได้นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แต่ความเห็นนี้ยังถือว่ายังไม่เด็ดขาด เนื่องจากต้องนำตัวผู้ต้องหาและสำนวนสั่งฟ้องในวันนี้ เพราะเป็นวันสุดท้ายในการฝากขัง แต่หากพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาบางรายจะต้องเสนอเรื่องไปที่ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้มีความเห็นทางคดี โดยหากเห็นแย้งความเห็นของอัยการจะถูกส่งต่อให้อัยการสูงสุดวินิจฉัยชี้ขาด จึงจะถือว่าเป็นคำสั่งเด็ดขาด ซึ่งถ้าอัยการสูงสุดมีความเห็นให้สั่งฟ้องตำรวจทั้ง 5 นาย ที่เดิมสั่งไม่ฟ้องในครั้งนี้ ก็สามารถนำตัวตำรวจทั้ง 5 นาย กลับมาดำเนินคดีได้ภายในอายุความ 20 ปี
ส่วนพ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ หรือ ผกก.เบิ้ม ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ ไม่มีรายชื่อเป็นผู้ต้องหาในสำนวนของพนักงานสอบสวนที่ส่งมาให้อัยการตั้งแต่แรก แม้จะอยู่ในเหตุการณ์วันดังกล่าวก็ตาม ซึ่งอัยการไม่ขอก้าวล่วงและไม่ทราบรายละเอียดในประเด็นนี้