'เศรษฐา' พร้อมนำทีมแถลงใหญ่แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ยกเป็นวาระแห่งชาติ "องอาจ"ตอกแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นล่าช้า เหตุรัฐบาลไม่พร้อมตั้งแต่ต้น  ด้าน"วันชัย" ชี้เป็นเหตุผลทางการเมืองของรัฐบาลที่ไม่รีบแก้รธน. "ราเมศ"ฟาดกลับอนุสรณ์"อย่ากร้าวร้าว การันตี"ชวน"คนดีไม่โกง สอน"เศรษฐา" ต้องฟังคำติติง

    
 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เตรียมเป็นประธานการแถลงข่าวเรื่องแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เวลา 11.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ,นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ร่วมแถลงข่าวด้วย
    
 สำหรับประเด็นการแถลงข่าวดังกล่าวนั้น คาดว่าจะเป็นการนำเสนอแนวทางการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ และมาตรการของรัฐบาลในการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชน โดยกำหนดให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบถือเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของประเทศ และประชาชนรายย่อยจำนวนมากที่กำลังเผชิญความเดือดร้อนจากสถานการณ์หนี้สินที่รุนแรง
    
 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "องอาจ คล้ามไพบูลย์" กล่าวถึงกรณีที่รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ,นายภูมิธรรม เวชยชัย กล่าวถึงการยื่นร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกาล่าช้า เป็นเพราะรัฐบาลรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ว่า การรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายเป็นเรื่องที่กระทำได้ แต่ความล่าช้าในเรื่องนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับการรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายแต่อย่างใด
    
 ความล่าช้าของการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นเพราะรัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมศึกษามาอย่างละเอียดรอบคอบ ตั้งแต่ประกาศเป็นนโยบายสำคัญใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา พอมาเป็นรัฐบาลจึงไม่สามารถลงมือทำทันที รัฐบาลยังมะงุมมะงาหรา ไม่รู้จักเดินหน้ายังไง ทั้งเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะกู้เงิน หรือใช้งบประมาณปกติ หรือใช้เงินจากออมสิน รวมไปถึงวิธีการดำเนินงานก็ไม่ชัดเจนว่าจะใช้แบบไหน การแจกเงินดิจิทัลจะผิดกฎหมายหรือไม่
    
 ความไม่พร้อมของรัฐบาล ตั้งแต่เริ่มต้นประกาศนโยบายหาเสียง จนถึงวันนี้ที่ยังไม่สามารถยื่นร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา จึงชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลทำเรื่องนี้ล่าช้า เพราะไม่ได้คิดเรื่องนี้ให้จบครบถ้วนตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ล่าช้าเพราะฟังความเห็นจากทุกฝ่ายแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี เมื่อล่าช้ามาถึงขนาดนี้แล้ว ยังไม่รู้ว่าจะแจกได้เมื่อไร ก็ขอฝากนายกฯ เศรษฐา ทำให้รอบคอบ โดยยึดหลัก 1. ไม่มีเรื่องทุจริต 2. ไม่ทำผิดกฎหมาย 3. ไม่ทำลายหลักการและวิธีการที่ถูกต้อง จะมีส่วนช่วยทำให้นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เดินหน้าได้ในที่สุด
    
 ด้าน นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 เตรียมเสนอให้สภาฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กรณีให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ตนมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะทำเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีประเด็นที่เคยส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. พร้อมคณะ ทำเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาแล้วและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. หรือให้ ส.ส.ร.ทำหน้าที่รื้อรัฐธรรมนูญฉบับเดิมซึ่งมาจากอำนาจของประชาชน ต้องถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่
   
  ส่วนกรณีที่รัฐบาลที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือยกเว้นหมวด 1 หรือ หมวด2 ตนมองว่าไม่จำเป็นที่ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความอีกเพราะเคยเกิดขึ้นแล้ว หรือหากรัฐบาลไม่ต้องการทำประชามติสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เป็นรายมาตรา หรือตามเงื่อนไขของมาตา 256 ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้
    
 นายวันชัย กล่าวด้วยว่า กรณีที่รัฐบาลมีความเห็นว่าจะสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าควรทำประชามติกี่ครั้ง ส่วนตัวมองว่าอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ไม่ควรเกิน 3 ครั้ง คือครั้งแรก ก่อนจะแก้รัฐธรรมนูญ ครั้งสอง คือ เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อเงื่อนไขมาตรา 256 ซึ่งจะเป็นก่อนการลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ในวาระสาม และครั้งสาม หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบทั้งฉบับโดยรัฐสภาแล้ว
    
 เมื่อถามว่า ขณะนี้เหมือนรัฐบาลเพิ่มประเด็นเพิ่มเติมเรื่อยๆ ทั้งการแก้พ.ร.บ.ประชามติ และส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความนายวันชัย กล่าวว่า เป็นประเด็นของรัฐบาลที่ต้องตัดสินใจ เพราะการศึกษาแนวทางการทำประชามตินั้นเป็นอำนาจเต็มของรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ที่รัฐบาลฟังพรรคการเมือง ประชาชน ถือเป็นวิธีปฏิบัติ หรือหาแนวร่วมทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ฟังก็ได้ ดังนั้นตนมองว่ารัฐบาลมีเหตุผลทางการเมือง ที่ไม่จำเป็นต้องรีบแก้รัฐธรรมนูญ
    
 ที่พรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินสายพูดคุยเรื่องแนวทางนิรโทษกรรมกับอดีตพระพุทธอิสระ ในทำนองว่า การนิรโทษกรรมควรเป็นการดำเนินการเพื่อทุกคนทุกฝ่าย ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง หรือทำเพื่อพวกพ้องของตัวเองนั้น
    
 นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การที่พรรคก้าวไกลเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ก็เนื่องจากปัญหาทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการใช้นิติสงครามในกฎหมายหลายฉบับ เพื่อจำกัดการแสดงออกของประชาชน กลายเป็นปัญหารากฐานสำคัญที่ทำให้การเมืองของประเทศไม่สามารถเดินต่อได้ การนิรโทษกรรมโดยมีการหารือร่วมกับตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ทั้งฝั่งการเมือง ฝั่งราชการ คือกระบวนการที่จะนำไปสู่การสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนทั้งที่กำลังถูกดำเนินคดี ถูกดำเนินคดีไปแล้ว และยังไม่ถูกดำเนินคดีแต่มีแนวโน้มจะถูกดำเนินคดี
    
 นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ถ้าดูเนื้อหาสาระทั้งหมดของร่างฯ จะเห็นได้ว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติให้กับใครทั้งนั้น แต่ต้องการทำให้กฎหมายสามารถธำรงความยุติธรรมให้กับทุกคน ในความเป็นจริงคนที่จะได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมไม่จำกัดอยู่แค่คนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนที่เข้าเงื่อนไขล้วนมีสิทธิได้รับการนิรโทษกรรม แม้แต่คนของพรรคเพื่อไทยเอง ที่วันนี้หลายคนไม่ได้รับสิทธิพิเศษเหมือนคนชั้น 14 หลายคนถูกดำเนินคดีกลั่นแกล้งทางการเมือง ซึ่งน่าเสียดายที่เรายังไม่เคยได้เห็นพรรคเพื่อไทยเองออกมาเคลื่อนไหวปกป้องหรือเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนเหล่านี้
    
   มีคนเดียวที่เหมือนจะได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด คือคนที่อยู่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ การนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลเป็นการเลือกปฏิบัติตรงไหน ผลของกฎหมายนี้ถ้าผลักดันสำเร็จ คือการคืนความเป็นธรรมให้คนรุ่นใหม่ คนเสื้อแดง ผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหมด ไม่เหมือนการเลือกปฏิบัติให้อดีตนายกรัฐมนตรีหรือการเป็นเครื่องต่อรองทางการเมืองเพื่อใครคนใดคนหนึ่งเสียหน่อย นายรังสิมันต์ กล่าว
  
   นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า การกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลสร้างการเลือกปฏิบัติไม่เป็นความจริง และเป็นการใส่ร้ายทางการเมือง ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง อนุสรณ์เป็นถึง สส. สิ่งที่ควรจะทำก่อนมาพูดออกสื่อคือการไปดูเนื้อหาสาระของร่างกฎหมาย ถ้าไม่รู้ก็ไม่ควรพูด ถ้าจะพูดก็ควรไปดูร่างฯ และถ้าได้ไปดูมาแล้วก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ได้พูดออกมาไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น
   
  ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง  โฆษกพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึงกรณีที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวพาดพิง นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา กรณีที่ออกมาเตือน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง  ว่า นายอนุสรณ์เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในรัฐบาลปัจจุบัน การรับฟังความเห็นต่างด้วยเหตุและผลเป็นสิ่งที่ควรทำ หลายเรื่องที่นายเศรษฐาทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง คำท้วงติงจากทุกฝ่ายรวมถึงฝ่ายค้านด้วย คือเสียงที่ต้องรับฟัง สมาชิกพรรคเพื่อไทยอย่าดิ้นเหมือนโดนน้ำร้อนลวก การแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจหลักฐานชัดเจนที่เกิดจากคำพูดของ นายเศรษฐา เมื่อเกิดความผิดพลาดก็ควรยอมรับการตรวจสอบ ประชาชนเข้าใจสาระในคำพูดทั้งหมดว่านายกรัฐมนตรีพูดหมายความว่าอย่างไร มีแต่สมุนนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่แกล้งทำเป็นไม่เข้าใจ ซึ่งเรื่องนี้ก็จะมีการตรวจสอบกันต่อไป ถ้านายเศรษฐา บอกว่าไม่อยากเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ควรจะลาออกอย่าให้ใครมาคอยสั่งการอยู่ข้างหลัง และขณะนี้มีนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่มีใครมองว่าเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงอยู่แล้ว
   
  นายราเมศ กล่าวต่อว่า นายชวนเป็นนายกฯ มา 2 สมัย ประธานสภามา 2 สมัย มีประสบการณ์ การให้ความคิดความเห็นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ดำรงตนในทางการเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นที่ประจักษ์ ไม่เคยทุจริต ไม่เคยหนีคดี เพราะฉะนั้นควรรับฟังและอย่าดิ้นเหมือนโดนน้ำร้อนลวก แล้วนำไปโยงกับการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่านายชวนควรเอาเวลาไปแก้ปัญหาในพรรคก่อน ซึ่งนักการเมืองที่คิดด้วยตรรกะเช่นนี้ไม่ถูกต้อง และควรรู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีใครสั่งซ้ายหันขวาหัน หรือจะมาสั่งให้ใครมาเป็นหัวหน้าได้ เพราะฉะนั้นควรแยกให้ออกคิดให้เป็น ประชาธิปัตย์ไม่มีใครเป็นเจ้าของ การแข่งขันกันเป็นเรื่องปกติตามระบบประชาธิปไตยภายในพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีหัวหน้าโจรคอยสั่งการ นักการเมืองที่ดีจะไม่ไปก้าวก่ายการดำเนินกิจการภายในของพรรคอื่นเขาจะมีมารยาท
   
  พรรคเพื่อไทยเลือกหัวหน้าพรรคได้ลูกสาวคุณทักษิณมาเป็นหัวหน้าพรรค เราก็ถือว่าเป็นเรื่องภายในไม่วิพากษ์วิจารณ์ เป็นเรื่องภายในและเป็นสิทธิของพรรคเพื่อไทย เพราะท้ายที่สุดในทางการเมืองบทพิสูจน์คือภาคปฏิบัติในการทำหน้าที่ วันหนึ่งถ้าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้บริหารบ้านเมือง สังคมก็จะเฝ้าดูว่าจะมีคดีทุจริตเหมือนคุณพ่อ จะต้องหนีคดีเหมือนอายิ่งลักษ์ ชินวัตร หรือไม่ ก็เท่านั้น ถ้าทำดีก็ถือว่าเป็นข้อแตกต่างจากตระกูลก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์
      
 นายอนุสรณ์เป็นส.ส. ประชาชนฝากการบ้านมาว่า คุณช่วยตั้งกระทู้ถามสด ในสภาฯ ถามนายกฯให้ตอบด้วยว่า กรณีการควบคุมตัวนักโทษที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ขณะนี้ยังใช้กฎหมาย ระเบียบ เดียวกับนักโทษคนอื่นหรือไม่ หรือว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายไม่เท่าเทียมกันหรือไม่ อาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย ระเบียบ ของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ ให้นายกรัฐมนตรีตอบในรายละเอียด เชื่อว่าหากนายอนุสรณ์ทำจะเกิดประโยชน์อย่างแน่นอน นายราเมศ กล่าว