อสส.แจงยิบสำนวนคดี “เสี่ยแป้ง” ยันรอผลวิเคราะห์ จากอัยการภาค 9 ก่อนตั้งกรรมการสอบ-ย้าย “อัยการบอย”หรือไม่
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบตามที่ปรากฏคลิปนายเชาวลิต ทองด้วง หรือ “เสี่ยแป้ง นาโหนด” ผู้ต้องขังที่หลบหนีออกจาก รพ. และมีการพาดพิงถึงพนักงานอัยการชื่อ “บอย” ที่เคยเป็นผู้ต้องหาร่วมกับนายเชาวลิต แต่อัยการภาค 9 สั่งไม่ฟ้องอัยการบอย ว่า เรื่องนี้อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้อธิบดีอัยการภาค 9 ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งให้อธิบดีอัยการภาค 9 และอธิบดีอัยการสำนักงานวิชาการประสานงานกันเพื่อนำสำนวนดังกล่าวมาวิเคราะห์ ซึ่งเดิมสำนวนคดีนี้มีอยู่ 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นส่วนที่อัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาซึ่งในส่วนนี้มีอัยการบอย เป็น 1 ใน 6 ผู้ต้องหาที่อธิบดีอัยการภาค9 มีคำสั่งไม่ฟ้อง เมื่อปี2563 และคำสั่งส่งไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค9 (ผบช.ภ.9) ได้พิจารณาแล้วเห็นพ้องตามอัยการ คือ สั่งไม่ฟ้อง ถือเป็นคำสั่งเด็ดขาด
นายประยุทธ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกคำสั่ง คือ ที่อัยการได้เห็นสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องเสี่ยแป้ง กระทั่งศาลจังหวัดพัทลุงมีคำพิพากษาจำคุก และมีข่าวว่า เสี่ยเเป้ง หลบหนีจากรพ. และได้ออกคลิปวีดีโอพาดพิงถึงอัยการ เรื่องนี้อธิบดีอัยการภาค9 ได้รายงานผลการตรวจสอบมายังอัยการสูงสุดแล้ว แยกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือ ในส่วนที่มีการพาดพิงถึงอัยการบอย ข้อเท็จจริงก็เป็นอย่างที่ตนพูดขั้นตอนในตอนต้น ส่วนที่2 กรณีมีบัตรสนเท่ห์ กล่าวถึงอัยการอีกคนหนึ่งซึ่งมีตำแหน่งเป็นอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงจังหวัดสงขลา ซึ่งทางอธิบดีอัยการภาค9 ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เนื่องจากขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่สำนักงานอัยการอาญามีนบุรีรวมทั้งไม่รู้จักกับอัยการบอย และเสี่ยแป้ง และคลิปที่2ของ เสี่ยแป้ง ก็อ้างว่าไม่รู้จักอัยการคนนี้ด้วย ในส่วนคำสั่งไม่ฟ้องอัยการบอย กับพวกรวม 6 คน และสำนวนที่มีการฟ้อง เสี่ยแป้ง หลังได้รับคำสั่งอัยการสูงสุดในช่วงวันหยุดผู้บริหารสำนักงานอัยการวิชาการ โดยนายวัชระ อินทุสุต อธิบดีอัยการสำนักงานวิชาการ ได้ประสานไปยังอธิบดีอัยการภาค9 แล้ว และเมื่อช่วงเช้าทางทีมโฆษกอัยการได้ข้อมูลว่าสำนวนดังกล่าวมีการส่ง EMS ด่วน คาดว่าจะถึงสำนักงานวิชาการช่วงบ่ายวันนี้หรืออย่างช้าช่วงเช้าพรุ่งนี้ ซึ่งขั้นตอนต่อไปต้องรอผลการวิเคราะห์คดีของสำนักงานอัยการสำนักงานวิชาการ
“สิ่งที่แจ้งให้ทราบได้ตอนนี้ คือ กระบวนการสั่งไม่ฟ้องหรือฟ้องคดีดังกล่าวที่ผ่านมาเป็นการสั่งเด็ดขาดตามกระบวนการกฎหมายที่บัญญัติไว้ทุกประการ แต่กฎหมายเขียนไว้ว่าการจะสั่งคดีใหม่ได้จะเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา141 (ป.วิอาญา) ที่จะต้องมีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใหม่ที่สามารถนำสืบพิสูจน์ให้ศาลลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ ถ้าเป็นกรณีเช่นนี้ก็อาจจะรื้อฟื้นคดีได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรอผลวิเคราะห์สำนวนก่อน”
เมื่อถามว่าอัยการสูงสุดได้กำหนดกรอบเวลาหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า อัยการสูงสุดยังไม่มีข้อสั่งการส่วนนี้ แต่อย่างที่ตนแจ้งให้ทราบว่าอัยการมีการประสานงานกันตลอดแม้วันหยุด ซึ่งเป็นการทำงานโดยเร่งด่วนรวดเร็วอยู่แล้ว ตนให้ความมั่นใจกับสังคมได้ว่าเรื่องแบบนี้อัยการสูงสุด และหน่วยงานในอัยการที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญแน่นอน และเมื่อผลวิเคราะห์ออกมาอย่างไร ทีมโฆษกอัยการจะรีบแถลงข่าวให้สาธารณชนทราบ ส่วนจะมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นหรือไม่ต้องรอผลการวิเคราะห์ของสำนักงานอัยการสำนักงานวิชาการก่อน
เมื่อถามต่อว่า ที่ผ่านมาอัยการบอยตกเป็นผู้ต้องหา อัยการมีการดำเนินการทางวินัย และระหว่างตรวจสอบนี้ต้องย้ายอัยการบอยออกจากพื้นที่หรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ข้อมูลในส่วนนี้ยังไม่มี ต้องรอผลการตรวจสอบ ซึ่งเชื่อว่าทางอธิบดีอัยการภาค9 ต้องรวบรวมส่งสำนักงานอัยการวิชาการทั้งหมด ส่วนเรื่องการย้ายอัยการบอยหรือไม่นั้น ทางผู้บริหารรอดูผลการตรวจวิเคราะห์ ทีมโฆษกอัยการยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้
เมื่อถามต่อว่ากรณีมีข่าวว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมนายจรวด จะมาให้ถ้อยคำกับอัยการเพิ่มเติมได้มีมาหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้ทีมงานโฆษกฯยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ และเท่าที่พูดกับทางอธิบดีอัยการภาค9 และอธิบดีอัยการสำนักงานวิชการยังไม่มีข้อมูลนี้ เมื่อถามย้ำว่าตอนนี้มีเรียกใครให้ถ้อยคำแล้วหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ตอนนี้ทางสำนักงานอัยการสำนักงานวิชาการยังไม่ได้รับสำนวนเลย
“มีหลักกฎหมาย การทำงานของพนักงานอัยการจะดูว่าพยานหลักฐานพอฟ้องหรือไม ถ้าไม่พอฟ้องเราจะไม่ฟ้อง ถ้าพอฟ้อง เราจะยื่นฟ้อง เพราะถ้าไม่พอฟ้อง แต่เราไปฟ้องจะทำให้คดีเสียหาย เพราะหากรู้ว่าพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง แต่ยังไปฟ้อง สุดท้ายศาลยกฟ้อง ทำให้ไม่สามารถที่จะฟ้องคดีใหม่อีกได้ เพราะจะเป็นฟ้องซ้ำ แต่ถ้าเราไม่ฟ้อง เพราะหลักฐานมันไม่พอ ในภายหลังพยานหลักฐานใหม่มาปรากฏภายในอายุความ และพยานหลักฐานนั้นสามารถสืบพิสูจน์ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้ เราก็รื้อฟื้นคดีอาญามายื่นฟ้องได้ ตรงนี้เป็นข้อกฎหมาย แต่ในสำนวนนี้ จะเป็นแค่ไหน เพียงใดต้องรอการตรวจสอบจากสำนักงานวิชาการ”