“กาย ณัฐชา” แนะต้นสังกัดสางปมยกพวกตีกัน ยันต้องแก้ไขที่ “รุ่นพี่” อย่าโยนภาระให้ผู้ปกครอง หลังมีข้อเสนอแก้กฎหมายเอาผิด

เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการยกพวกตีกันของนักศึกษาที่ปัจจุบันเป็นข่าวแทบทุกวัน โดยสังคมมองว่าการตีกันของกลุ่มเด็กวัยรุ่นกลายเป็นองค์กรอาชญากรรมไปแล้ว ว่า เรื่องนักเรียนนักศึกษาทะเลาะวิวาทยกพวกตีกันมีมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว ตนในฐานะอดีตนักศึกษาช่างกลแห่งหนี่งใน กทม. มองว่า รื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นมาหลายครั้ง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ใหญ่หลายคนที่ดูแลรับผิดชอบในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางครั้งอาจจะหลับตาข้างหนึ่ง บางครั้งอาจจะหลับตา 2 ข้าง คือปล่อยให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นมา และพอเกิดเหตุการณ์รุนแรงถึงแก่ชีวิตขึ้นมา ก็มีการพูดคุยว่าจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร จะต้องพิจารณาหน่วยงานองค์กรใดเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ในความจริงแล้วมันเกิดขึ้นตลอดเวลา เราควรจะใส่ใจเรื่องนี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามา หยิบยกเรื่องนี้มาแก้ไขให้เป็นรูปธรรมและแก้ไขที่รากฐานของเหตุนั้น

“เด็กรุ่นนี้มีความอยากลองผิดลองถูก พร้อมจะเผชิญทุกเหตุการณ์ ด้วยวัยที่เรียกว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ด้วยฮอร์โมน ด้วยอะไร แต่ไม่มีการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานต้นสังกัดที่ดีพอ จนทำให้มีการปลูกฝังเรื่องราวต่างๆที่อาจจะไม่ดี เป็นการแก้แค้นแทนรุ่นพี่ หรือแก้แค้นเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ทะเลาะตบตีกันในครั้งอดีตและรุ่นน้องก็ต้องมาแก้แค้นแทน ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น” นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา กล่าวต่อว่า หน่วยงานภาครัฐควรศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และแก้ไข ส่วนจะกล่าวหาว่าเป็นองค์กรอาชญากรรมหรือไม่ ตนคิดว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น แต่แค่เหตุความรุนแรงมันรุนแรงทวีคูณมากขึ้น จากการปล่อยปะละเลยของพวกเรา

เมื่อถามว่ารุนแรงมากขึ้นถึงความเมื่อก่อนอย่างไรบ้าง  นายณัฐชา กล่าวว่า ตามข่าวที่เกิดขึ้น มีช่องทางทางการเงินเข้ามา มีการจัดเตรียมอาวุธซื้ออาวุธ สมัยก่อนที่ตนเรียน เพื่อนๆ ในกลุ่มที่เป็นกลุ่มออกมาปะทะ จะมีการลงขันเก็บเงินจากรุ่นน้องคนละประมาณ 400-500 บาท รุ่นพี่คนละ 1,000 บาท ได้เงินกองกลางมาจำนวนหนึ่ง สมัยก่อนก็จะไปซื้อไม้กับมีด สมัยนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็จะไปซื้อปืน มีช่วงสมัยที่ฮิตก็มีไปซื้อระเบิดปิงปอง

“แต่ยุคนี้มีการซื้อปืนเกิดขึ้น ซึ่งมีอำนาจในการทำลายล้างสูง ทำให้ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมที่ใหญ่ มีอาวุธครบมือ มีองค์กรหน่วยงานที่สนับสนุนเงิน แต่ความจริงแล้วมันปฎิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้ เกิดขึ้นเพราะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรงเจ้าของสถานศึกษา หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษา หรือแม้กระทั่งผู้บริหารสูงสุดที่ดูแลเรื่องราวเหล่านี้ปล่อยปะละเลยมาโดยตลอด รุ่นที่ 1 แรง รุ่นที่ 2 แรงกว่า รุ่นที่ 3 แรงมาก รุ่นที่ 4 ก็เลยเลยเถิดไปไกลเลย” นายณัฐชา กล่าว

เมื่อถามว่ามีการเสนอให้ออกกฏหมายเอาผิดผู้ปกครองด้วยในฐานะที่เป็นผู้ดูแล นายณัฐชา ตั้งข้อสงสัยว่า วันนี้เราโยนภาระทุกอย่างให้พี่น้องประชาชน เราเห็นการกระทำความผิดก็ไปเขียนกฎหมายแล้วใครผิดใครถูก ถ้าเกิดออกกฏหมายให้ผู้ปกครองผิดแล้วเกิดเหตุอีก ก็ต้องออกกฏหมายให้ปู่ย่าตายายผิดด้วย มันก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่วันนี้สิ่งที่ควรทำคือรัฐต้องไปศึกษาว่าวัยนี้ที่จะต้องไปเรียน บางคนต้องการไปเรียนสายอาชีพ แต่ไม่ต้องการทะเลาะตบตีกัน แต่ดูสถานศึกษามันบีบบังคับให้รวมกลุ่มกัน ในการปลูกฝังว่าสถาบันนั้นสถาบันนี้คือคู่อริเรา ทั้งที่เขาเองยังไม่รู้จักว่าโรงเรียนนั้นอยู่ที่ไหน จุดไหน

“ต้องไปแก้ไขที่รุ่นพี่ด้วย เพราะรุ่นพี่คือส่วนหนึ่งที่ปลูกฝังลงไป รุ่นน้องคือส่วนที่พร้อมที่จะรับและลองผิดลองถูก แต่เมื่อเขาพร้อมที่จะลองผิดลองถูก ลองถูกกลับไม่มีเข้ามา มีแต่ลองผิดออกไป จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ จะไปโยนให้ผู้ปกครองอย่างเดียวไม่ได้ โยนความผิดให้สังคมไม่ได้ ต้องไปตั้งสติ ที่เด็กวันนี้เป็นอยู่ผู้ใหญ่ทำอะไรหรือยัง” นายณัฐชา กล่าว

นายณัฐชา ย้ำว่า เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นหลายครั้ง รอบหนังที่เป็นประเด็นทางสังคมก็มีการหยิบยกมาแก้ไข แต่พอเรื่องเงียบไป