เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารยุพราชเบญจมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรภ.นม.) รองศาสตราจารย์ ดร.ชคัตตรัย รยะสวัสดิ์ รองอธิบดีฝ่ายบริการวิชาการและพัฒนาท้องถิ่น มรภ.นม. เป็นประธานเปิดโครงการ “วันรัฐศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2566 หลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ มรภ.นม. เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต ครบรอบ 4 ปี โดยเชิญ “ไอติม” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล (กก.) ในฐานะประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อม ส.ส กก.จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ ส.ส เขต 1 และนายปิยชาติ รุจิพรวศิน ส.ส เขต 2 ร่วมเวทีเสวนา POL NRRU TALK “ปลดล็อคท้องถิ่น ผู้บริหารจังหวัดเรา เราเลือกเอง” ให้กับนักศึกษาและประชาชนที่สนใจทยอยเดินทางมาร่วมกิจกรรมกว่า 400 คน

“ไอติม” กล่าวว่า ภาพรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ 32 อำเภอ ของ จ.นครราชสีมา ถือเป็นจังหวัดที่มี อปท.มากที่สุดในภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 334 แห่ง ประกอบด้วย 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 1 เทศบาลนคร (ทน.) 4 เทศบาลเมือง (ทม.) 85 เทศบาลตำบล (ทต.) และ 243 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งวาระกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาได้หลายด้าน เช่น กระตุ้นเศรษฐกิจได้ครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพมหานครและหัวเมืองภูมิภาค ซึ่งต้องมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างทัดเทียมกัน การปฏิรูประบบราชการสามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนมีความคล่องตัวมากขึ้น จึงต้องอัดฉีดประชาธิปไตยที่ฐานรากเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะนี้พรรคก้าวไกลได้ยื่นกฎหมายให้กระจายอำนาจจากส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็น 1 ใน 14 ฉบับที่เป็นวาระเร่งด่วนที่พรรคก้าวไกลแถลงเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา


ทั้งนี้การแก้ไข พ.ร.บ.ขั้นตอนการกระจายอำนาจมีการเปลี่ยนแปลง 2 ส่วนสำคัญ 1.เพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นมีอิสรภาพบริหารทรัพยากรในการบริการสาธารณะ 2.เพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นในการหารายได้ มีงบประมาณมากขึ้น เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ล่าสุดร่างกฎหมายฉบับนี้ประธานสภาผู้แทนราษฏรได้วินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงิน หากจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ตามรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีต้องให้การรับรอง อย่างไรก็ตามการกระจายอำนาจท้องถิ่นทำให้อำนาจในการบริหารทรัพยากรอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด เมื่อเกิดปัญหาและความต้องการในพื้นที่ หากรอส่วนกลางอนุมัติอาจไม่ทันการณ์ จึงต้องให้เป็นอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งและยึดโยงกับประชาชนดำเนินการบริหารจัดการจะสามารถปฏิบัติได้โดยตรงความต้องการและรวดเร็วมากขึ้น “ไอติม” นายพริษฐ์ กล่าวย้ำ