อนุทิน หนุนแก้จนเป็นวาระแห่งชาติ ลั่นชาตินี้-ชาติหน้าต้องทำให้ได้ สั่งฝ่ายปกครองสำรวจลูกหนี้ พร้อมขอ ให้รอฟังข่าวดีนายกฯ แถลงแนวทางแก้หนี้นอกระบบ 28 พ.ย.นี้ จุลพันธ์ตั้งเป้าสางหนี้ทั้งระบบ เร่งพิจารณารายละเอียดอุ้มสหกรณ์เกษตร

    
 ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 20 พ.ย.66 คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ และสโมสรโรตารี จัดสัมมนาเรื่อง การแก้ปัญหาความยากจน : วิถีสู่ความสำเร็จและความเป็นอยู่ที่ดี โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวปฐกถาพิเศษในหัวข้อ วาระแห่งชาติ นโยบายแก้จนของประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า นโยบายแก้จน ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ที่ผ่านมาในการหาเสียงไม่มีรัฐบาลใดไม่คิดแก้ปัญหาความยากจน ดังนั้นเมื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้วต้องแก้ไขให้ได้ ไม่ใช่ให้เป็นวาระที่ต้องทำแบบถาวร เมื่อตนมีโอกาสทำงานที่กระทรวงมหาดไทย ต้องทำทุกอย่างเพื่อกำจัดความยากจน และเป็นภารกิจและวาระแรกของตนที่ตั้งใจจะทำ
    
 นายอนุทิน ยังกล่าวถึงการเตรียมแถลงแผนแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลในวันที่ 28 พ.ย. นี้ ว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้ทำตามคำสั่งนายกฯ โดยให้นายอำเภอ ผู้กำกับการ แต่ละโรงพัก ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาเป็นผู้ประสานงานในการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งจะไม่ใช้คำว่าหนี้นอกระบบ แต่เป็นหนี้ที่เอารัดเอาเปรียบพี่น้องประชาชน และการชาร์จดอกเบี้ยที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด ประชาชนต้องจ่ายเงินต้นไม่รู้กี่รอบ แต่หนี้ก็ยังอยู่ เพราะติดอยู่ที่อัตราดอกเบี้ยสูง จึงต้องเร่งแก้ไขตรงนี้ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ประชาชนไม่มีปากไม่มีเสียง เพราะเกรงกลัวอิทธิพล และคนที่เป็นเจ้าหนี้มีกำลังเหนือกว่า
     
  ดังนั้นรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา เชื่อว่าถ้านายอำเภอและผู้กำกับโรงพักเข้ามาดูแลการเอารัดเอาเปรียบ และข่มเหงพี่น้องประชาชนก็จะลดลงไป ถือเป็นวัตถุประสงค์และกุศโลบายของนายกฯ
    
 ด้าน  นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลจะใช้กลไกตามอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลในการช่วยเหลือและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน ซึ่งจะมีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน การดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้จะเป็นคนละส่วนกับโครงการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งเป็นเพียงการช่วยเหลือในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ครั้งนี้รัฐบาลจะใช้กลไกในการแก้ไขโครงสร้างหนี้สินอย่างจริงจังและครอบคลุมทั้งระบบ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดอยากให้รอฟังจากนายกฯอีกครั้ง
   
  ทั้งนี้ ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าแนวทางการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลอาจจะทำให้ลูกหนี้ที่ดีจงใจผิดนัดชำระหนี้ (Moral Hazard) แต่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเฉพาะแรงกดดันทางเศรษฐศาสตร์ต่อประชาชน โดยเฉพาะคนตัวเล็กมันสูงมาก จึงเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องยกเอาแรงกดดันเหล่านี้ออกจากประชาชนกลุ่มนี้ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เป็นการต่อลมหายใจ ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าการพักหนี้ครั้งนี้ จะไม่เหมือน 13 ครั้งที่ผ่านมา ที่เป็นเพียงแค่การประวิงเวลา เพราะรัฐบาลมีกลไกประกอบหลายอย่างในการเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลหวังว่าการพักหนี้ในครั้งนี้ประกอบกับกลไกอื่น ๆ ที่รัฐลงไปจะสามารถทำให้ประชาชนพลิกฟื้นชีวิตกลับมาได้อย่างแข็งแรง
   
  "เท่าที่ทราบเบื้องต้นข้อมูลที่มีการส่งเข้ามาเป็นกลุ่มค่อนข้างจำเพาะ แต่เมื่อเป็นกลุ่มจำเพาะก็ต้องมาดูในรายละเอียดว่าเป็นกลุ่มสหกรณ์ใดที่ส่งมา คงไม่ใช่สหกรณ์ทั้งหมด และจะต้องมีเกณฑ์ชี้วัดที่ชัดเจนว่า ทำไมสหกรณ์นี้จึงสามารถเข้าสู่กระบวนการให้ความช่วยเหลือได้ ส่วนสหกรณ์อื่น ๆ ถึงจะไม่เข้า เราจะต้องดำเนินการโดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน สามารถตอบสังคมได้ว่าทำไม! ตรงนี้กำลังให้ส่วนงานราชการดูเอกสารที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งมา เบื้องต้นเป็นอาจจะเฉพาะสหกรณ์เกษตร ซึ่งเราจะยึดตามข้อมูลที่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ส่งเข้ามาเป็นหลัก"
     
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น เป็นโจทย์ที่ได้รับมอบหมายมาเช่นกัน โดยหากมุ่งเน้นการช่วยเหลือไปที่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รหัส 21 (กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19) ก็จะพุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งอาจทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีอื่น ๆ ที่อยู่นอกกรอบไม่ได้รับความช่วยเหลือไปด้วย ดังนั้นตอนนี้จึงพยายามหารือและพิจารณาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งระบบ แต่ก็ต้องอยู่ภายในกรอบภาระที่รัฐบาลรับไหว เพราะต้องยอมรับว่ามูลหนี้ของเอสเอ็มอีต่อรายค่อนข้างสูงไม่ใช่หลักแสนบาทแบบหนี้เกษตรกร ดังนั้นรัฐบาลต้องมีการหากลไกเข้าไปช่วยเสริมและสนับสนุน ซึ่งยืนยันว่าอาจจะไม่ใช่การพักหนี้ และการเข้าไปช่วยเหลือแล้วก็ต้องไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มอื่น ๆ ที่รัฐบาลจะต้องดูแล และต้องไม่ให้เกิดปัญหา Moral Hazard