วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นประธานมอบถ้วยรางวัลพระราชทานการแข่งขันกีฬาสแต็คชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รายการ H.R.H. Princess Maha Chakri Sirindhorn’s Cup : TSSA Thailand Stacking Championships 2023 โดยมีนายธีระ รัชตาธิบดี นายกสมาคมสแต็คประเทศไทย ประธานจัดการแข่งขันฯ ให้การต้อนรับ ณ ลาน Avenue โซน A ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ และมีบุคคลสำคัญหลายวงการร่วมยินดี อาทิ นายวิศาล สิปิยารักษ์ กรรมการผู้จัดการศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ดร.สุฑาทิพย์ วาทีทิพย์ เลขาธิการสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดร.วรัญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น
ท่านผู้หญิงภรณี ฯ กล่าวว่า ได้มีโอกาสติดตามข่าวสารอันน่าชื่นชมของสมาคม ฯ จึงได้ประจักษ์ถึงคุณประโยชน์ของกีฬาสแต็ค และความมุ่งมั่น ความตั้งใจจริงของคณะผู้บริหาร และขอแสดงความชื่นชมกับนักกีฬาสแต็คที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน และรางวัลเกียรติคุณต่างๆเป็นอันมาก ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักกีฬาที่ได้รับรางวัลจากรายการแข่งขัน ฯ ในวันนี้ จะมีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
ด้านนายธีระ ฯ กล่าวว่า การแข่งขันกีฬาสแต็ค ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน ฯ สมาคมสแต็คประเทศไทย จัดมายาวนานมากกว่า 10 ปี และปีนี้ถือเป็นรายการแข่งขัน ฯ ที่ทรงเกียรติ ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 4 ปี เพราะนอกจากจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี แล้ว การแข่งขัน ฯ ยังมีนักกีฬาสมัครเข้าร่วมครบทุกช่วงวัย จากสถานศึกษา 39 แห่ง ในประเทศ และนักกีฬาจากสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 15 คน รวมผู้เข้าแข่งขันฯ ทั้งสิ้น 194 คน ในจำนวนนี้นักกีฬาที่อายุน้อยที่สุดคือ 4 ปี และมากที่สุดคือ 64 ปี การแข่งขัน ฯ มีทั้งสิ้น 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทบุคคล จำนวน 11 รุ่นอายุ ประเภทคู่ จำนวน 3 รุ่นอายุ และประเภททีม จำนวน 3 รุ่นอายุ โดยสมาคม ฯ ได้รับการสนับสนุนการจัดแข่งขัน ฯ จากศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็น เอ็ม อี ซี จำกัด บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) บริษัท แลคตาซอย จำกัด และออปโป้ ประเทศไทย
ทั้งนี้ผลการแข่งขัน ฯ ปรากฏว่า ถ้วยพระราชทาน รางวัลชนะเลิศ ประเภทบุคคล (ชาย) ระดับ Professional ได้แก่ นายขวัญชัย เกรียงวิทยากุล นักศึกษามหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
ถ้วยพระราชทาน รางวัลชนะเลิศ ประเภทบุคคล (หญิง) ระดับ Professional ได้แก่ SI – HYEON KIM, Dongnae Girls' High School จากสาธารณรัฐเกาหลี
ถ้วยพระราชทาน รางวัลชนะเลิศ ประเภทคู่ ได้แก่ ด.ญ.ปัณชญา ยุทธหาญ ด.ญ.ณัชชา ปิ่นกุล นักเรียนโรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ) จ.ฉะเชิงเทรา
ถ้วยพระราชทาน รางวัลชนะเลิศ ประเภททีม ได้แก่ ด.ญ.ปัณชญา ยุทธหาญ ด.ญ.ณัชชา ปิ่นกุล ด.ญ.พิชญาสินี ศรีวิเชียรรักษ์ ด.ญ.มัฒฑณิฎาศ์ หัตตะโสภา ด.ช.อาทิรทัชร โกสินทร์ นักเรียนโรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ) จ.ฉะเชิงเทรา
โดยการแข่งขัน ฯ ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของวงการกีฬาสแต็ค ที่สมาคมฯ ได้นำระบบการสะสมคะแนน และระบบ BIP ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของสมาคมฯ มาใช้กำหนดระดับความสามารถของนักกีฬาจากสถิติเวลาการแข่งขันรายการต่างๆที่สมาคมฯ จัดขึ้น เพื่อสามารถมุ่งเป้าการพัฒนาสมรรถนะของผู้เล่นสู่ความเป็นเลิศจากระดับ Beginner - Intermediate – Professional สามารถสร้างโอกาสการเข้าถึงรางวัลของนักกีฬาอย่างทั่วถึง นำไปสู่การคัดกรองนักกีฬาร่วมการแข่งขันในรายการที่เหมาะสม และเป็นการรวบรวมสถิติเวลาการแข่งขันของนักกีฬาในระดับประเทศ ในส่วนที่ผู้สนใจหรือนักกีฬาสแต็คที่ต้องการสร้างความเป็นเลิศ สมาคมฯ ยังมี TSSA Academy ให้บริการหลักสูตรที่หลากหลายอีกด้วย
ทั้งนี้ สมาคมสแต็คประเทศไทย เป็นสมาชิกในสหพันธ์กีฬาสแต็คนานาชาติ หรือ International Sport Stacking Federation (ISSF) มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนา ส่งเสริมและยกระดับกีฬาสแต็คให้แพร่หลาย ด้วยแนวคิด Sport Stacking For ALL ที่เน้นประโยชน์ของกีฬาสแต็ค เป็นมากกว่ากีฬา สามารถเสริมสร้างสมรรถนะชีวิตได้ในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านสมอง สมาธิ ประสาทสัมผัส สายตา กล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ ส่งเสริมพัฒนาการต่อเด็กและเยาวชน ช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ต่อผู้สูงอายุ และช่วยฟื้นฟูร่างกายและจิตใจต่อกลุ่มผู้ป่วยและผู้พิการ ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ สนใจการเล่นกีฬาสแต็คมากขึ้น และมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วจนสามารถคว้ารางวัลในการแข่งขันกีฬาสแต็คชิงแชมป์โลกมาได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553 ส่งผลต่อการฝึกสมาธิ การเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองและประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ ในร่างกายของผู้เล่นทุกช่วงวัย นำไปสู่การมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคต