"เศรษฐา"ตอกย้ำแจกเงินดิจิทัลจำเป็นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปากท้อง ขอบคุณ "เจ้าสัวธนินท์" หนุน"ดิจิทัลวอลเล็ต" ย้ำพร้อมรับฟังทุกความเห็น ได้ฤกษ์หลังปีใหม่นอนค้างคืนทำเนียบฯ ด้าน'อนุทิน' ชมนายกฯ  ทำงานรวดเร็ว ตัดสินใจเฉียบขาด พร้อมหนุนทุกนโยบาย นิด้าโพลŽเผยปชช.ไม่เห็นด้วยรัฐบาลกู้เงินแจก 
       
     ที่ห้องภิรัชฮอลล์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 19 พ.ย.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ในโอกาสครบรอบ 90 ปี หอการค้าไทย ตอนหนึ่ง ว่า วันนี้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเตรียมสคริปต์ให้พูดแต่ก็ยังไม่โดนใจมาก เพราะเป็นการเดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา ได้พบผู้นำและนักธุรกิจระดับโลกจำนวนมาก จึงจะขอนำเรื่องที่ได้ไปพบมา มาพูดในวันนี้ โดยเรื่องแรกดิจิทัลวอลเล็ตมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่จริงๆแล้วปัจจัยหลักเหลือแค่เร่งด่วนจำเป็นหรือไม่วิกฤติ หรือมีบางคนเห็นว่าไม่เร่งด่วนไม่จำเป็นไม่วิกฤติ 
    
 สำหรับรัฐบาลนี้เห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน และสภาพเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะวิกฤติ หากบอกว่าวิกฤติจีดีพีต้องติดลบก็พูดถูกถ้าแบบนั้น แต่เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก เราอยู่บนโลกของการแข่งขันที่สูงมาก ย้อนกลับไปดูจีดีพีของประเทศคู่แข่งของเราโดยเฉพาะ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เท่าไหร่ในปีที่ผ่านเมื่อเปรียบเทียบกับเรา แต่ตนเชื่อว่าเราสามารถไปได้อีก 9 ปี 10 ปีที่ผ่านมาตัวเลขการเฉลี่ยของไทยต่ำกว่า 2% อยู่ที่ 1.8% จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลนี้ที่อาสาเข้ามาแก้ปัญหาแล้วต้องทำให้ได้ สองเดือนที่ผ่านมาจัดการไปแล้วพักหนี้เกษตรกร ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน รวมไปถึงการฟรีวีซ่าให้กับหลายประเทศ ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่เราดำเนินการ
     

รัฐบาลนี้ รัฐมนตรีทุกท่านทำงานหนักลงรายละเอียดทุกเม็ดเพื่อก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ ดิจิทัลก็เป็นนโยบายหนึ่ง ยืนยันเวทีวันนี้ไม่ได้เป็นการโน้มน้าวŽ
     
นายเศรษฐา  ยังได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ สนับสนุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท แต่ขณะเดียวกัน ยังมีเสียงต่อต้านการกู้เงินมาใช้ในโครงการ ว่า ครับ ก็รับฟังครับŽ  พร้อมรับฟังความเห็นต่าง และขอบคุณเจ้าสัวธนินท์ที่ให้การสนับสนุน ต้องไปดูว่าความจริงแล้ว ประเทศเราต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายหลักของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เราได้ทำมาแล้ว เรื่องการสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลในระยะสั้นและระยะยาวด้วย รวมทั้งการย้ายถิ่นฐานการผลิตของบริษัทต่างๆ กว่าที่จะมีการตอกเสาเข็มและมีสินค้าออกไปก็ต้องใช้ระยะเวลาหลายปี และ 9 ปีที่ผ่านมาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่เพียง 1.8% แต่เราต้องการวิธีใหม่ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
    
 เมื่อถามย้ำว่า แต่ยังมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินมาใช้ในโครงการ เพราะมองว่าเศรษฐกิจของเรายังสามารถที่จะเจริญเติบโตได้อยู่ ไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤตถึงขนาดจำเป็นต้องกู้เงินมา นายเศรษฐา กล่าวว่า รับฟัง รับทราบ และอย่างที่ตนพูดมาตลอดเวลาว่ามันมีประเด็นอยู่ประเด็นเดียวคือ วิกฤตและจำเป็นหรือเปล่า แต่ตนถือว่าวิกฤต แต่ถ้าท่านบอกว่าวิกฤตคือจีดีพีต้องติดลบ อันนั้นก็เป็นวิกฤต แต่ถ้ามองดูว่า 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเราโตแค่เพียง 1.8% คู่แข่งของเราก็ยังเป็นฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็ต้องไปดูว่าเขาขยายตัวเท่าไหร่ ท่านก็ไปดูตัวเลขย้อนหลังออกมาก็แล้วกัน ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างไรบ้าง ค่าแรงขึ้นไม่ได้ ค่าแรงขั้นต่ำก็ขึ้นไม่ได้ เพราะธุรกิจเรารายได้ไม่ขยายตัวขนาดนั้น รายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 300 - 337 บาท ต่ำมาก แต่ตนก็เห็นใจผู้ประกอบการ ทั้งรายกลางและรายย่อยว่าไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้ เพราะมีหลายๆ เหตุผล กว่า FTA จะเจรจาเสร็จ ใช้เวลา 1 - 2 ปี และกว่าเขาจะมาตั้งโรงงานได้ต้องใช้เวลาพอสมควร กว่านโยบายหลายๆ นโยบายจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องใช้เวลา และระหว่างนี้เราจะทำอย่างไรกันก็ต้องฝากไว้ด้วย
    

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายเศรษฐาอาจจะไม่นอนพักค้างที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
    
 ล่าสุด มีรายงานจากแหล่งข่าวระดับสูง ว่า นายเศรษฐายืนยันเสียงหนักแน่นว่าจะนอนค้างที่ห้องพักภายในตึกไทยคู่ฟ้า เป็นที่พักชั่วคราวในระหว่างปฎิบัติราชการ ขณะนี้ในห้องพักที่จะใช้ค้างคืนยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบน้ำ ขอให้สื่อมวลชนเตรียมตัว คาดว่าหลังจากปีใหม่ไปแล้ว นายกฯจะมานอนค้างคืน และขอให้สื่อเตรียมรองเท้าไว้สำหรับเดิน เพราะนายกฯอาจจะใช้เวลาในช่วงค่ำลงมาเดินสำรวจสถานที่ เพราะชอบเดินออกกำลังกาย ส่วนสื่อคงไม่ต้องมานอนเฝ้า แต่ถ้าจะมาเดินออกกำลังกายด้วยก็มาได้
    
 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 41 และมอบรางวัลสำเภาทอง ให้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับรางวัล โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า รางวัลนี้นอกจากจะเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ ที่แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
   
  นายอนุทิน ยังกล่าวถึงการทำงานร่วมกับนายกฯ  ว่าจากการที่ได้ร่วมงานมา 3 เดือน เห็นถึงความพร้อมจะพาประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นคนทำงานรวดเร็ว ว่องไว และตัดสินใจเฉียบขาด ทุกเรื่องที่ได้รับนโยบายมาก็มีความสบายใจว่านโยบาย หรือคำสั่งจากนายกฯ เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนกับวิถีชีวิตของคนไทยและเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ได้นึกถึงเรื่องของพรรคการเมือง ทุกเรื่องคือเรื่องของรัฐบาล ในการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ที่แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา เป็นคำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติตามสิ่งที่ให้สัญญาไว้กับประชาชนตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง
   
  นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในการแถลงนโยบายที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรี และข้าราชการ ต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะมีอุปสรรคปัญหาใดๆ ต้องหาหนทางที่จะแก้ไข และดำเนินการให้นโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาบรรลุผลสัมฤทธิ์ให้ได้
    
 "นายกฯ มีความตั้งใจที่จะทำนโยบายให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย มั่นใจว่าภารกิจที่ได้ให้สัญญาเอาไว้จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ขอให้คำยืนยัน จะให้ความร่วมมือกับนายกรัฐมนตรีในทุกๆ นโยบาย ที่จะทำให้ประเทศเกิดประโยชน์" นายอนุทิน กล่าว
    
 ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 245 บัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลัง ของรัฐ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอผลการตรวจสอบการกระทําที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัย การเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณา
    
 ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบดังกล่าว ให้ปรึกษาหารือ ร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หากที่ประชุมร่วม เห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้น ให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย
    
 การที่รัฐบาลจะออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านมาแจก จึงน่าจะขัดต่อกฎหมายการเงินการคลัง ม.53 โดยชัดแจ้ง และอาจจะทำให้วินัยการเงินการคลังของชาติเสียหายอย่างร้ายแรง องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงจะนำความไปร้องต่อผู้ว่าฯ สตง.ในการปฏิบัติตาม ม.245 ข้างต้นโดยเคร่งครัด ในวันจันทร์ที่ 20 พ.ย.66 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซ.อารีย์ พญาไท กทม. นายศรีสุวรรณ กล่าว
     
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "OK ไหม กับ นายกฯ สรุปเอง เงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-16 พ.ย.66 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง
    
 จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงคุณสมบัติการได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 79.85 ระบุว่า มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ รองลงมา ร้อยละ 11.68 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าตนเองมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์หรือไม่ และร้อยละ 8.47 ระบุว่า ไม่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ เมื่อถามตัวอย่างที่ระบุไม่แน่ใจว่าตนเองมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์หรือไม่ และไม่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ (จำนวน 264 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับความรู้สึกที่จะไม่ได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เนื่องจากคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 68.18 ระบุว่า ไม่โกรธเลย รองลงมา ร้อยละ 11.36 ระบุว่า ไม่ค่อยโกรธ ร้อยละ 8.71 ระบุว่า ค่อนข้างโกรธ ร้อยละ 7.58 ระบุว่า โกรธมาก และร้อยละ 4.17 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    
 ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ต้องเป็นคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และ/หรือมีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันต่ำกว่า 5 แสนบาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.53 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 25.80 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 20.31 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 12.67 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.69 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    
 สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยสามารถใช้ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.66 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 28.47 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 20.69 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 16.03 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    
 ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อแหล่งที่มาของงบประมาณในการจัดทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติ กู้เงิน 500,000 ล้านบาท และงบประมาณประจำปีอีก 100,000 ล้านบาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 50.69 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 14.89 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 13.35 ระบุว่า เห็นด้วยมาก และร้อยละ 2.37 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    
 ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ภายหลังการแถลงของนายกฯเศรษฐา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 29.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 25.97 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 25.11 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 18.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    
 ขณะที่ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องที่พึ่งของคนไทย ณ วันนี้Ž กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,026 คน (สำรวจทางออนไลน์) สำรวจระหว่างวันที่ 14-17 พ.ย.66 พบว่า จากการที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทำให้ประชาชนรู้สึกต้องการที่พึ่งอย่างมาก ร้อยละ 52.34 เรื่องที่ต้องการที่พึ่งมากที่สุดคือเรื่องของแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 57.79  รองลงมาคือ สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ร้อยละ 55.14  นอกจากพึ่งตนเองแล้วบุคคลที่คิดว่าน่าจะเป็นที่พึ่งได้มากที่สุด คือ ครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ ร้อยละ 61.43 ทั้งนี้เรื่องที่ประชาชน อยากระบายความอัดอั้นมากที่สุด คือ เศรษฐกิจเมื่อไหร่จะดีขึ้นŽ ร้อยละ 45.17 รองลงมาคือ ของแพง เงินไม่พอใช้Ž ร้อยละ 43.87
   
  ผลโพลตั้งแต่ช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านต่อมายังรัฐบาลนายเศรษฐา พบว่าปัญหาปากท้องเป็นโจทย์หินของทุกรัฐบาล เมื่อของแพงรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายจึงทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน แก้ปัญหาด้วยการพึ่งพาตนเอง ญาติพี่น้อง และเพื่อนสนิท นี่คือชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ รวมไปถึงการหันไปหาที่พึ่งทางใจอย่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย ดังนั้นรัฐบาล จึงต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวรวมถึงแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในภาพรวมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
   
  จากผลสำรวจนี้เป็นคำตอบเบื้องต้นแล้วว่า ในเวลานี้ประชาชนต้องการที่พึ่งในการใช้ชีวิต โดยของแพง ค่าครองชีพสูงคือเรื่องที่ประชาชนต้องการที่พึ่งมากที่สุด และตามมาติดๆ อันดับที่ 2 กับเรื่องของเศรษฐกิจตกต่ำ ผลโพลดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการใช้ชีวิตของคนไทยกำลังมีปัญหาเร่งด่วนในเรื่องของแพง ค่าครองชีพสูง  ซึ่งนอกจากตนเองแล้วบุคคลที่คิดว่าน่าจะเป็นที่พึ่งได้มากที่สุดสองอันดับแรก คือ ครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ และเพื่อนสนิท โดยมีรัฐบาลเป็นอันดับสุดท้ายอยู่อันดับที่ 5  สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลว่าจะพึ่งพาได้น้อยที่สุด จาก 5 อันดับ และประชาชนยังอัดอั้นใจในเรื่องเศรษฐกิจอีกด้วย จึงเป็นการตอกย้ำว่าปัญหาเรื่องของแพง ค่าครองชีพสูง เศรษฐกิจไม่ดี เงินไม่พอใช้ คือปัญหาสำคัญที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขโดยเร็ว แม้ว่าจะมีประชาชนเพียง ร้อยละ 18.46 เท่านั้นที่คิดว่าน่าจะพึ่งรัฐบาลได้