วันที่ 16 พ.ย.2566 บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารจากกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง นำโดยสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง หรือ  (Mekong Institute) ที่ประกอบด้วย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และ เวียดนาม เข้าศึกษาดูงานพร้อมหารือด้านการสร้างมาตรฐานสินค้า ให้มีความปลอดภัยทางอาหาร

โดยนายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความปลอดภัยของอาหารถือเป็นเรื่องที่นานาชาติต้องให้สำคัญ เพราะหากบริโภคอาหารที่ไม่สะอาด หรือไม่มีมาตรฐาน อาจส่งผลกระทบกับผู้บริโภคในระยะยาวหากเกิดปัญหาด้านสุขภาพ เซ็นทรัลแล็บไทย ในฐานะห้องปฏิบัติการของรัฐ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 มากกว่า 1000 รายการทดสอบ และเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ จึงพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนามาตรฐานทางห้องปฏิบัติการให้กับประเทศในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง CLMV เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเดินหน้าเรื่องมาตรฐานอาหารปลอดภัยในภูมิภาคอาเซียน

ประโยชน์สูงสุดของการพัฒนาเรื่องอาหารปลอดภัย คือ การยกระดับมาตรฐานในประเทศกลุ่ม CLMV จากการพูดคุยกับผู้บริหาร และนักลงทุน ทำให้ทราบว่าแต่ละประเทศยังต้องเผชิญกับปัญหาการสร้างมาตรฐานที่มีปัจจัยมาจากกฎข้อบังคับ หรือ ความพร้อมทางวิชาการ ดังนั้น เซ็นทรัลแล็บไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลพร้อมให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาระบบ และสร้างมาตรฐานทางห้องปฏิบัติการทั้ง LAB และ NON LAB ในกลุ่มประเทศดังกล่าว

“ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากเซ็นทรัลแล็บสามารถสนับสนุนให้ประเทศเพื่อนบ้านมีความเข้มแข็งในด้านมาตรฐานสินค้าให้สามารถส่งออกได้ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกลับมายังประเทศไทยให้ในการเป็นศูนย์กลางด้านการส่งออกในภูมิภาคอาเซียนได้” นายชาคริต กล่าว

โอกาสนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และ นายอารยะ โรจนวณิชชากรผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการ เป็นผู้ให้ข้อมูลภายใต้หัวข้อ Thailand’s Food Safety Control System เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการทำงาน การสร้างมาตรฐานของอาหาร และกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่จะผลิตเพื่อการบริโภคหรือส่งออกจำหน่ายทั่วโลก ล้วนแต่ ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย เป็นลำดับแรก ซึ่งเรื่องความปลอดภัยของอาหารเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพราะในทุกห่วงโซ่มีความสำคัญเท่ากัน  ทั้งนี้ หากกลุ่มประเทศ CLMV สามารถดำเนินงานร่วมกันสร้างมาตรฐานทางอาหารได้ ประโยชน์ที่จะได้ คือ ความปลอดภัยของผู้บริโภค