เมื่อวันที่ 16 พ.ย.66 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก  Thiravat Hemachudha ระบุข้อความว่า...

ในปัจจุบันนี้ เราทราบกันดีว่า การเดินอย่างรู้สังขาร ไม่ถึงกับต้องหักโหมแบบคาร์ดิโอ หนักหนา หัวใจเต้นเร็ว ช่วยสุขภาพและลดการตาย ที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือด หัวใจ สมอง และยังลดสมองเสื่อมได้ด้วย

ทั้งนี้ ถ้าทำให้ได้ถึง 10,000 ก้าวต่อวัน

ปัญหาก็คือ ในคนที่อายุมากขึ้น มีปัญหาเรื่อง กระดูกและข้อ ทั้งที่เสื่อมและที่แม้แต่ไปผ่าตัดแล้วก็ตาม ทำให้เดินไม่ได้สะดวก รวม ทั้งปวดหลัง การทรงตัว เลยพาลไม่ยอมเคลื่อนไหว

ผลของการศึกษาใหม่นี้เฉพาะเจาะจงในคนที่สูงวัยตั้งแต่อายุ 71 ยันไปถึง 92 ปีโดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 78 ปี

และเป็นการรายงานในที่ประชุม epidemiology, and prevention/life style and cardiometabolic health โดย ดร Erin Dooley ผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยาและคณะ ที่ university of Alabama at Birmingham

คณะผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์กลุ่มย่อยในการศึกษา ความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดตันในชุมชน atherosclerosis risk in communities (ARIC) ซึ่งเป็นการศึกษาวิเคราะห์วิจัยต่อเนื่องโดย สถาบันหัวใจปอดและเลือดแห่งชาติ (National Heart, Lung and Blood Institute)

โดยกลุ่มการศึกษาย่อยนี้ประกอบไปด้วยผู้สูงวัยจำนวน 452 รายด้วยกันและมีการเก็บรายละเอียดและวิเคราะห์เป็นระยะในระหว่างช่วง 2016 และ 2017

โดยผู้ที่ร่วมการศึกษานั้นสวมเครื่องวัดการเคลื่อนไหวติดที่บั้นเอว อย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อวัน ติดต่อกันครั้งละสามวัน ในแต่ละครั้ง และเป็นสตรี 59% โดยเป็นคนผิวดำ 20%

ผลลัพธ์ ทางสุขภาพที่ได้มีการสรุป จนกระทั่งถึง เดือนธันวาคม ในปี 2019 ซึ่งรวมถึงโรคทางเส้นเลือดหัวใจและสมองที่ถึงแก่ชีวิตและไม่ถึงกับตายแต่ต้องเข้าโรงพยาบาล และรวมภาวะหัวใจวายไว้ด้วย

ผลจากการศึกษาที่สำคัญชี้ให้เห็นว่าทุกๆ 500 ก้าวที่เดินเพิ่มต่อวันจะทำให้ความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดดังกล่าวลดลงถึง 14% ด้วยกัน (hazard ratio, 0.86; 95% confidence interval, 0.76-0.98).

ก้าวเดินโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3,447 ก้าวต่อวันและมี 34 รายคิดเป็น 7.5% ที่เกิดโรคของเส้นเลือดในช่วงการติดตาม 1,269 person-years

ความเสี่ยงสะสมของโรคเส้นเลือดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือพบได้ 11.5% ใน quartile ที่เดินน้อยสุด คือน้อยกว่า 2077 เก้าต่อวัน เทียบกับเพียง 3.5% ในกลุ่มที่เดินสูงสุดคืออย่างน้อย 4453 ก้าวต่อวัน

ที่น่าดีใจมากขึ้นไปอีกนั้นก็คือในกลุ่มที่เดินเยอะที่สุด (highest quartile) รวมแล้วมีความเสี่ยงลดลง 77% ในระยะ 3.5 ปีในตลอดระยะเวลาการติดตาม (HR,0.23)

ผลของการศึกษานี้สนับสนุนคุณค่าของการเดิน แม้ว่าจะเพิ่มจำนวน ก้าวขึ้นแม้ไม่มากก็ตาม ในผู้สูงอายุ โดยเริ่มตั้งแต่ทุก 500 ก้าว จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เป็นต้นไป

ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติตัวให้ได้ง่ายที่สุดเลย ก็คือในผู้สูงวัยตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไปนั้น การเดินตั้งแต่ 3000 ก้าว ต่อวัน ก็จะเริ่มส่งผล ให้ประโยชน์ ในการป้องกันโรคของเส้นเลือดหัวใจหรือสมองแล้วและประโยชน์ที่จะเห็นได้ชัดเลยนั้น ก็คืออยู่ที่ตั้งแต่ 4,500 ก้าว เป็นต้นไป

ในขณะนี้ลูกหลานก็สามารถซื้อนาฬิกาสวมใส่ข้อมือ สมาร์ท วอช ราคาไม่แพง ให้ พ่อ แม่ คุณป้า คุณอา คุณน้า ปู่ ย่า ตา ยาย ใส่ และเป็นเครื่องวัด และ สร้างเสริม กำลังใจ ให้ญาติ ผู้ใหญ่ ขยับกายมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

ข้อสำคัญก็คือ ใน วัยกลางคน ยัง ทำแต่งาน นั่งอยู่กับ โต๊ะทำงานในแต่ละวัน เคลื่อนไหวเพียงแค่ 500-600 ก้าว เท่านั้น และมีข้ออ้างอยู่เป็นประจำว่าทำงานเหนื่อยแล้วต้องนั่งพักผ่อน ดูทีวี กินขนม

การเคลื่อนไหวออกกำลังต้องเริ่มทุกวัยจะได้ประโยชน์ ไม่ต้องเสียเวลามารักษาตัว เมื่อเกิด โรคภัยไข้เจ็บ และเงินทองที่หามาได้ทั้งชีวิต จบลงในบั้นปลายชีวิต สูญ เงินทองแถมยังต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อรักษาตัว เพียงสองถึงสี่ปี เท่านั้น จนตาย