เมื่อวันที่ 19 ม.ค.67 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" ระบุว่า ...

หัวใจอักเสบกับโควิดวัคซีน

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่ทำให้เกิดหัวใจวาย จนกระทั่งเสียชีวิตกระทันหัน (sudden cardiac death) เป็นสิ่งที่ได้รับทราบกันมาตลอดตั้งแต่เริ่มมีการใช้วัคซีนโควิด

อุบัติการที่เกิดขึ้นจะมีขนาดตั้งแต่ 1.4 ถึง ห้าราย ต่อคนที่ฉีดวัคซีน 100,000 คน

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับขั้นตอนและกระบวนการศึกษาโดยที่มีการรายงานในการติดตาม ระยะสั้นว่า อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายเองได้ หรือได้รับการรักษาไม่นาน

แต่หลังจากนั้นมีรายงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงผลกระทบหรือผลข้างเคียงของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่รุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิต

หน่วยงาน ควบคุมและป้องกันโรคของรัฐบาลประเทศเกาหลี จึงได้เล็งเห็นความสำคัญถึงความปลอดภัยในการใช้วัคซีนโควิด โดยมีช่องทางการรายงานทั่วประเทศและขณะเดียวกันมีการประเมินอย่างเข้มข้นโดยมี กรรมการที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญ และจนกระทั่งมีการ ชัณสูตรศพ ผู้ที่เสียชีวิตกระทันหันหรือฉับพลันหลังจากได้รับวัคซีนและสามารถสรุปได้ว่าเกิดจากวัคซีนโดยตรง

รายงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร European heart journal ของสมาคมโรคหัวใจของยุโรป (European society of cardiology) ในเดือนพฤษภาคมปี 2023 นี้เอง

ในประชากรทั้งหมด 44,276,704 ราย อายุมากกว่า 12 ปี ที่ได้รับโควิดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม จนกระทั่งถึงวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2021 มีรายงานจนกระทั่งถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2022 ว่าอาจเป็นไปได้ที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนเป็นจำนวน 1,533 ราย

ในจำนวนนี้ได้ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญและสามารถสรุปได้ชัดเจนว่า เกิดจากวัคซีน เป็นจำนวน 480 ราย

ดังนั้น อุบัติการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในประเทศเกาหลีจะอยู่ที่ 1.08 รายต่อผู้ที่ฉีดวัคซีน 100,000 ราย

โดยจำนวน 480 ราย มีอาการรุนแรง 95 รายคิดเป็น 19.8%

ในทั้งหมด 480 รายนี้ ที่ต้องได้รับการรักษาในห้องผู้ป่วยอาการหนักไอซียูเป็นจำนวน 85 ราย ( 17.7% )

และเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างรุนแรง (fulminant myocarditis) 36 ราย คิดเป็นจำนวน 7.5%

และที่ต้องได้รับการพยุงประคองช่วยชีวิตด้วยเครื่อง ECMO หรือ extracorporeal membrane oxygenation เป็นจำนวน 21 ราย ( 4.4%)

มีผู้เสียชีวิต 21 ราย ( 4.4%)

ผู้เสียชีวิตอย่างเฉียบพลันกระทันหันที่เกิดขึ้นจากวัคซีนโควิดและพิสูจน์ได้ชัดเจนจากการตรวจสอบและตรวจชิ้นเนื้อเยื่อมีจำนวน 8 ราย ( 1.7%)

มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการเปลี่ยนหัวใจเป็นจำนวน 1 ราย (0.2%)

ระยะเวลาหลังจากที่ได้รับวัคซีน จนกระทั่งเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอยู่ที่ 42 วัน ตามกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ทั้งนี้เพื่อให้การวินิจฉัยตรงไปตรงมาและมีความคาดเคลื่อนน้อยที่สุดโดยอิงตาม Brighton Collaboration (BC. Myocarditis/pericarditis case definition. The task force for global health, 16 July 2021.) และเสริมเติม กฎเกณฑ์มากขึ้นเพื่อไม่ให้ข้อมูลผิดพลาด ทั้งนี้ ยังได้ตัดรายที่มีการติดเชื้อโควิดและที่การตรวจเลือดไม่พบหลักฐานของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และนอกจากนั้น ยังได้ทำการตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุอื่นของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบซึ่งรวมถึงการติดเชื้อไวรัสและภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวนที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้

หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคของรัฐบาลประเทศเกาหลี ได้สรุปข้อมูลที่ได้ดังต่อไปนี้ก็คือ

ประการที่หนึ่ง การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิดไม่ได้พบบ่อย กล่าวคือ 1.08 รายต่อคนที่ฉีดวัคซีน 100,000 คน และส่วนมากแล้วเกิดกับวัคซีน

เอ็มอาร์เอ็นเอโดยเฉพาะในผู้ชายอายุน้อย ที่มีอายุระหว่าง 12 ถึง 17 ปีตามด้วยผู้ชายที่อายุระหว่าง 18 ถึง 29 ปีและพบได้น้อยสุดในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 70 ปี

ประการที่สอง เมื่อทำการวิเคราะห์อุบัติการที่เกิดขึ้นจะพบว่าเกิดหลังวัคซีนเข็มแรก 0.47 รายต่อ 100,000 คน

เกิดหลังวัคซีนเข็มที่สอง 0.55 รายต่อ 100,000 คน

เกิดหลังวัคซีนเข็มที่สาม 0.4 รายต่อ 100,000 คน

ทำให้สามารถสรุปได้ว่าอุบัติการของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น จะไม่แตกต่างกันมากหลังฉีดเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สอง แต่เมื่อฉีดไปสามเข็มอุบัติการจะลดลงกว่าที่ฉีดเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สอง

ประการที่สาม กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังเข็มที่หนึ่งจะพบไม่แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย แต่หลังเข็มที่สองจะพบในผู้ชายมากกว่า

ประการที่สี่ ในประเทศเกาหลีนั้นมีสูตรการฉีดไขว้สองแบบเท่านั้น กล่าวคือเข็มแรกแอสตร้า ต่อด้วย

ไฟเซอร์ หรือไม่ก็ โมเดน่าต่อด้วยไฟเซอร์ ทั้งนี้ไม่พบรายงานกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วยโมเดน่าต่อด้วยไฟเซอร์

อย่างไรก็ตาม มีแปดรายจาก 1,789,915 คนที่ได้รับแอสตร้าและต่อด้วยไฟเซอร์ คิดเป็น 0.45 รายต่อ 100,000 คนที่ได้รับวัคซีน

ประการที่ห้า ถึงแม้ว่าโดยรวมการเกิดหัวใจอักเสบจะดูน้อยมาก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะพบว่ามีความรุนแรงหรือเสียชีวิตได้สูงถึง 19.8%

ทั้งนี้โดยรวมถึงการที่เสียชีวิตเฉียบพลัน หัวใจหยุดเต้น ซึ่งต้องมีการเฝ้าติดตามระมัดระวังและมีการเตือน ถึงการเสียชีวิตเฉียบพลันว่าเกิดขึ้นได้จากวัคซีนโควิด โดยเฉพาะในคนที่อายุน้อยกว่า 45 ปีที่ได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ

หน่วยงานของประเทศเกาหลีได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง ของรายงานที่ผ่านมา ในนานาประเทศว่า อาจจะเกิดขึ้นจากชนิดของวัคซีนที่ต่างกันแม้กระทั่งเชื้อชาติหรือไม่

แต่จุดแข็งของรายงานจากรัฐบาลเกาหลีนี้ ไม่เหมือนเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นการรายงาน แบบย้อนหลัง ทั้งนี้โดยที่รัฐบาลเกาหลีนั้นได้สร้างระบบการรายงานผลข้างเคียงของการใช้วัคซีนโควิดตั้งแต่เริ่มก่อนที่จะมีการฉีดวัคซีนและสร้างระบบในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยถือว่าผลข้างเคียงของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็นเรื่องที่รุนแรงมาก และการรายงานต้องฉับพลันเที่ยงตรงและลดการรายงานที่ผิดพลาดน้อยหรือมากเกินจริง

นอกจากนั้นรัฐบาลของเกาหลีนั้น ยังได้ให้ความสำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความแม่นยำในการวินิจฉัย โดยมีการตรวจชิ้นเนื้อที่ได้จากการตัดชิ้นเล็กๆของกล้ามเนื้อหัวใจจากผู้ป่วยที่มีอาการ เข้าได้กับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัยและตัดสาเหตุอื่นออกและควบรวมกับการตรวจเอคโค่ (echocardiogram ) จนกระทั่งถึงการตรวจเอ็มอาร์ไอ และการตรวจเลือด cardiac Troponin ที่ต้องมีหลักฐานประกอบด้วย โดยเฉพาะ ในกรณีที่บางรายไม่มีการตรวจเอ็มอาร์ไอ หรือขาดข้อมูลทางเอคโค่แต่ทุกรายนั้นต้องมีอาการที่เข้าได้และตัดสาเหตุอย่างอื่นออกทั้งหมด

รายงานนี้ รัฐบาลเกาหลีหน่วยงานป้องกันและควบคุมโรค ได้กล่าวย้ำให้มีการติดตามอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลกระทบจากวัคซีนโควิดที่เดิมอาจจะดูเหมือนไม่รุนแรงมาก แต่เมื่อมีการติดตามอย่างละเอียด จะมีผลกระทบถึงเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะคนที่อายุน้อยกว่า 45 ปีและได้รับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ

สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวัคซีนในประเทศไทยที่คณะทำงานของเรา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่และสาขาประสาทวิทยาคณะแพทยศาสตร์จุฬา ได้มีการติดตาม พบว่ามีทั้งที่ต้องเปลี่ยนหัวใจ หลังได้รับวัคซีนชิโนฟาร์ม และมีสมองอักเสบ มีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างรุนแรงหลังจากได้รับวัคซีนไฟเซอร์ รวมทั้งมีกล้ามเนื้อแขนขาอักเสบเป็นอัมพาต นอกจากนั้น มีผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนชนิดต่างๆ ทางสมองทางเส้นประสาทและมีเส้นเลือดดำอุดตัน

โดยที่ทุกคนยอมรับว่าวัคซีนมีประโยชน์ แต่การ ติดตามความปลอดภัยถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดเช่นกัน เพราะวัคซีนเป็นการให้เพื่อป้องกันโรคและช่วยชีวิต และการฉีดวัคซีนต้องคำนึงถึงสถานการณ์ความรุนแรงของโควิด ณ เวลานั้นๆด้วย