จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย นัดแรก เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยจะคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันใหม่ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

ซึ่งตามกฎหมายฉบับใหม่จะมีการคำนวณภาระหนี้ของลูกหนี้ กยศ.ใหม่ โดยปรับลำดับการตัดยอดหนี้ใหม่ จากเดิมเมื่อลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้มาแล้ว จะตัดยอดดอกเบี้ยผิดนัดชำระก่อน ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ และเงินต้น แต่การคำนวณใหม่ จะปรับลำดับใหม่ เริ่มจากตัดเงินต้นก่อน แล้วจากนั้นจึงตัดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ และดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ทำให้เงินต้นลดลงเร็วมากกว่าเดิม

สำหรับการคำนวณยอดหนี้ใหม่ครั้งนี้จะครอบคลุมลูกหนี้ประมาณ 3.5 ล้านราย ที่ยังมีสถานะเป็นลูกหนี้ของกองทุน กยศ.หลังจาก พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 โดยการคำนวณจะเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่วันแรกที่ได้ชำระหนี้ให้กับ กยศ.

“ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระมาแล้ว เมื่อคำนวณใหม่ จะมีภาระหนี้ลดลงอย่างชัดเจน ส่วนลูกหนี้บางรายที่ยังผ่อนอยู่ยังไม่หมด เมื่อคำนวณใหม่อาจจะหมดหนี้และปิดหนี้ได้เลย แต่ที่ต้องดูเพิ่มเติมหลังกฎหมายใหม่ออกมา นั่นคือ กลุ่มของลูกหนี้ที่ปิดยอดไปแล้ว กยศ.จะตามไปคำนวณยอดหนี้ให้เช่นกัน”

โดยในขั้นตอนการดำเนินงาน กยศ.จะไปจัดทำระบบการคำนวณให้เสร็จสิ้นภายใน 5 เดือนนับจากนี้ แต่ที่ประชุมมองว่าเป็นเวลาที่นานเกินไป จึงขอให้มีการทำระบบขึ้นมาแบบง่าย หรือคำนวณด้วยเจ้าหนี้ที่ก่อน เพื่อเร่งคำนวณยอดหนี้ให้ลูกหนี้กลุ่มที่มีความเดือดร้อน และมีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน 2 กลุ่ม ดังนี้ 1.ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องร้องและอยู่ในชั้นของกรมบังคับคดี จำนวน 4.6 หมื่นคน จะเริ่มทำให้เสร็จในเดือนธันวาคม 2566 นี้ 2.ลูกหนี้ที่จะหมดอายุความในเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 4 หมื่นคน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้กับกยศ.ใหม่

“หากคำนวณได้เร็วจนทำเสร็จทั้ง 2 กลุ่มแล้ว แต่ระบบยังไม่พร้อม เจ้าหน้าที่จะเร่งทำการคำนวณลูกหนี้ กยศ.อื่นๆ อีกเพิ่มเติม เพื่อคำนวณยอดหนี้ใหม่ให้กับกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งจะเป็นข่าวดีและเป้นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกหนี้กยศ.ทั้งหมด”