โฆษกรัฐบาลเผย นพ.พรหมินทร์ ชี้แจงทุกข้อห่วงกังวลโครงการ Digital Wallet 10,000 บาท มั่นใจรัฐบาลใช้ Winner Attitude เดินโครงการ เชื่อทุกปัญหามีทางออก

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้หยิบยกการชี้แจงของ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีต่อกระแสสังคมที่มีข้อห่วงกังวลในโครงการ Digital Wallet ดังนี้ 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ต่อข้อสังเกตว่าการใช้เงินในโครงการ Digital Wallet อาจจะขัดต่อข้อกฎหมายนั้น โดย นพ.พรหมินทร์ ชี้แจงว่า ได้มีการพิจารณาข้อจำกัดของกฎหมายและความเห็นต่าง ๆ ของนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียง ประเทศไทยยังมีปัญหา ล้าหลัง ภาวะหนี้สิ้นของประชาชนเพิ่มขึ้นในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา จากร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 90 ของ GDP จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหลังจากออกเป็นนโยบาย ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้พูดคุยหารือและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เนื่องจากสามารถขอฉันทามติผ่านกระบวนการในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถทำได้และเคยทำมาก่อนในหลายรัฐบาล 

กรณีกระแสสังคมว่า รายละเอียดหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการไม่ตรงปกเหมือนตอนหาเสียงไว้ นพ.พรหมินทร์ ชี้แจงว่า รัฐบาลมีการปรับแก้ไขตามเสียงคัดค้านให้เหมาะสม ซึ่งโจทย์ของ Digital Wallet คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นในบรรดาของกลุ่มประชาชนที่แบ่งตามรายได้ต่าง ๆ รายได้กลุ่มที่น้อยที่สุด 20% ที่น้อยที่สุด หรือกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำที่สุด เวลาที่รัฐบาลให้เงินไป กลุ่มดังกล่าวเกิดการใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 5 เท่า ขณะที่กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ 3 อยู่ที่ประมาณ 3.5 – 4.5 เท่า ส่วนกลุ่มสุดท้ายที่มีเงินเดือนมากกว่า 7 หมื่นบาท เมื่อรัฐบาลให้เงินไปแล้ว จะเกิดการใช้ประมาณ 1.2 เท่า 

ดังนั้น จากข้อพิจารณา และข้อเสนอต่าง ๆ ทำให้ได้ตัดคนส่วนนี้ออกไป เพราะว่าเป็นส่วนที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ละทิ้ง โดยมีการหาวิธีที่คล้าย ๆ กัน จึงมีการใช้ e-Refund ซึ่งกลุ่มนี้สามารถนำเงินของตนเองไปใช้จ่ายแล้วนำเงินมาคืนของหลวง จึงขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ละทิ้งกลุ่มใด แต่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการและมาตรการให้เหมาะสมเพื่อตอบโจทย์แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ส่วนกรณีที่มีข้อสังเกตถึงการกู้เงินของรัฐบาลนั้น เป็นการหาทางลง เนื่องจากเสี่ยงต่อกฎหมายต่าง ๆ หรือไม่ เลขาฯ ได้ชี้แจงว่า ข้อสังเกตดังกล่าวการหาทางลงเป็นวิธีคิดของคนที่เป็น Loser ของคนที่ปรารถนาความพ่ายแพ้ แต่คนที่อยากจะเอาชนะใช้ Winner attitude ซึ่งจะคล้ายกับการหา solution ร่วม หรือ “ทุกปัญหามีทางออก” ซึ่งรัฐบาลพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดและต้องการทำให้โครงการนี้สำเร็จ เพราะเชื่อมั่นว่า ประชาชนกำลังรอโครงการนี้อยู่กว่า 60% – 70% รวมทั้งจะส่งผลให้เกิด micro investment โดยเงินจำนวนนี้จะนำไปใช้ในการลงทุน สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งพบว่ากว่าร้อยละ 40.23 ระบุว่า จะนำเงินไปรวมกับครอบครัวเพื่อไปใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น เกษตรกรอาจนำเงินไปรวมในครอบครัวเพื่อใช้ทำมาหากินในภายภาคหน้า หรือหากมีจำนวน 2 – 3 คนในครอบครัว อาจเปิดร้านขายของในเมืองได้ จึงขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลจะนำเงินเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่ใช่การใช้จ่ายอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการลงทุนในระยะยาวเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย

“โครงการ Digital Wallet ตอบโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว เชื่อมั่นว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจมหภาคฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ รัฐบาลเชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนมีความหวังดีกับประเทศ และขอชี้แจงว่า รัฐบาลได้ดำเนินโครงการนี้ผ่านการพิจารณา วิเคราะห์ ทุกปัจจัย ตัวแปร และศึกษาข้อมูลทางสถิติ และเชื่อมั่นว่ามีประชาชนจำนวนมากรอคอยเงินจากโครงการนี้เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น” นายชัย กล่าว