วันที่ 13 พ.ย.2566 นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการออก ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ระหว่างการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วยแล้วขอให้บันทึกการประชุม แต่พูดตอนท้ายการประชุมว่ามีหน้าที่ดูแลทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย และปกป้องทุกคนในที่ประชุม โดยจะนำเรื่องไปหารือในคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้เราต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ส่วนเรื่องการกู้เงินนั้น นายกรัฐมนตรีได้หารือผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ว่าฯธปท.ให้ข้อคิดว่าเพื่อให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.เงินตรา ต้องมีเงินมาสำรองโครงการ เราเลยแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินมาวางไว้ให้เห็น แล้วเราค่อยๆ ใช้ และจากการที่นายกฯหารือกับผู้ว่าฯธปท.ก็ยังมีข้อเสนอเห็นด้วยกับการขอกู้ เพราะสะอาดดี โดยการขอกู้นั้นต้องดูว่ากฎหมายให้ช่องทางอะไรไว้บ้าง ที่สุดแล้วเราคิดว่าวิธีการนี้เหมาะสมที่สุด
นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า ในการหาเสียงเราระบุจะหารายได้จากการเก็บภาษีในปี 67 แต่การตั้งรัฐบาลล่าช้า กระบวนการต่างๆ จึงล่าช้าตาม ซึ่งการเก็บภาษีจะไปโชว์ตอนปลายปี สิ่งที่เราดำเนินการคือการบริหารด้านการเงิน และมีช่องทางหนึ่งคือการออกกฎหมาย เราประเมินจากทุกตัวว่านี่คือวิกฤติเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจตกต่ำสุดและฟื้นช้าสุด นี่คือความจำเป็น และกรอบกฎหมายอนุญาตให้เราใช้แบบนี้ โดยทำให้รอบคอบ ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา และนำเรื่องเข้าสู่สภา
เมื่อถามว่า มีรายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 10 พ.ย. เลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ว่าฯธปท. ติงการกู้เงินแล้วมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจก นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ไม่ได้ให้ความเห็นอะไร มีเพียงผู้ว่าฯธปท.ที่ให้ความเห็นว่าเรื่องการกู้เงิน นายกฯต้องระวัง และระบุให้บันทึกการประชุมว่าท่านได้ให้ความเห็นว่า ป.ป.ช.มีความเห็นมาอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ประชุมรับทราบ และเป็นข้อพึงสังวรให้ทำทุกอย่างถูกต้อง ครบถ้วน
เมื่อถามว่าผู้ว่าฯธปท.ไม่เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินใช่หรือไม่ นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า ตนเองตอบแทนไม่ได้ เพียงแต่บอกว่ามีหน้าที่ดูแล พ.ร.บ.เงินตรา ส่วนด้านการคลัง การบริหาร เป็นหน้าที่ของรัฐบาล คงต้องไปถามผู้ว่าฯธปท. แต่ตนเองยืนยันโครงการของเราไม่ได้เอาเงินไปแจก แต่เอาไปกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อถามว่า ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เห็นด้วย มีข้อติติง มีความเสี่ยงทางกฎหมายมาก รัฐบาลจะหยุดหรือไม่ นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า เชื่อว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาคงต้องให้ความเห็นว่าควรจะทำอย่างไร เพราะเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย ให้ข้อแนะนำว่าควรจะเดินอย่างไร และรัฐบาลมีหน้าที่ต้องเดิน
เมื่อถามถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำว่ามีความเสี่ยง อาจจะไม่เข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และกฎหมายต่างๆ รัฐบาลจะทำอย่างไร นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า ถ้าชี้มาว่ามีข้อห่วงใยตรงไหนก็พยายามจะแก้ตรงนั้น
เมื่อถามว่า ตอนหาเสียงกับตอนทำจริงไม่เหมือนกัน ทางการเมืองถือว่าเสียหายหรือไม่ นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า ไม่เหมือนกันตรงไหน คือ เรารับว่าจะทำให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเราทำตามข้อใหญ่นี้ และเราบอกว่าจะบริหารโดยการใช้งบประมาณ แต่ประโยคสุดท้ายได้ระบุว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศ หมายความว่าเราปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ตอนคิดโครงการ เราคิดหลักการใหญ่และมาดูของจริงว่าเป็นอย่างไร เราก็ต้องแก้ปัญหา ที่สำคัญเรายืนยันว่าจะต้องทำให้ได้และให้สำเร็จ
เมื่อถามว่า เกรงหรือไม่ว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน จะซ้ำรอย พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นจุดกำหนดเกมการเมือง นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า เราเรียนรู้จากของเก่า ความตั้งใจเรามองอนาคต เห็นโอกาสของประเทศ พอถูกเบรกเราก็เรียนรู้ว่าบทเรียนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จึงปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานต่างๆ ให้รอบคอบ
เมื่อถามว่า เมื่อจะถอดบทเรียน แสดงว่าหากคณะกรรมการกฤษฎีกาติติงมา เราจะหยุดใช่หรือไม่ นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า เราก็แก้ไขไปตามข้อแนะนำ และข้อแนะนำคงจะต้องบอกว่ามีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง