วันที่ 22 พ.ย.2566 นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราชและ รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) ออกมาระบุว่า อยากจะให้ตนชี้แจงว่า สมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลได้กู้เงินแล้วมาได้ใช้คืนหรือไม่ เพื่อตอบโต้ที่ตนออกมาแสดงความห่วงใยว่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท อาจจะเป็นการสร้างหนี้ในอนาคตว่า ในเมื่อนายพร้อมพงศ์ ต้องการปกป้องโครงการดิจิทัลวอลเลต โดยใช้วิธีแบบหมาหางด้วน คือถามว่าสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาลนั้น ได้มีโครงการกู้เงินแล้วใช้คืนหรือไม่นั้น ก็ต้องบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ก็มีโครงการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และกู้มาเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่กู้มาแจกเพื่อรักษาแบรนด์ของพรรคเพื่อดึงและตรึงคะแนนเสียง โดยตนยกตัวอย่าง 2 โครงการกู้เงินใหญ่ๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์กู้มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ คือ โครงการมิยาซาวา โดยเป็นโครงการที่กระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ โดยได้เงินกู้มาจาก องค์กรการเงินระหว่างประเทศ 3 แห่ง รวมเป็นเงิน 53,000 ล้านบาท หลังจากที่รัฐบาลในยุคของ นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ไปเจรจากับ IMF เพื่อขอผ่อนปรนเงื่อนไขที่ให้รัฐบาลไทยจัดทำงบประมาณแบบเกินดุล ขณะที่เศรษฐกิจกำลังหดตัวอย่างรุนแรง พร้อมกันนี้ นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในยุคนั้น ก็ได้บริหารนโยบายคลังแบบผ่อนคลาย ประกอบกับการเบิกจ่ายงบมิยาซาวา ถือว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ครั้งนั้น จุดติดและมีผลนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เศรษฐกิจไทยจากที่เคยติดลบ 10.1% ในปี 2541 กลับมาขยายตัวเป็นบวก 4.2% ในปี 2542 และยังขยายตัวต่อเนื่องไปถึงปี 2543 จนทำให้ รัฐบาลที่เข้าบริหารประเทศต่อมา ฉวยโอกาสตีกินว่าเป็นผลงานของตัวเอง และโฆษณาหาเสียงให้ประชาชนเข้าใจผิด
นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกหนึ่งโครงการกู้เงินที่มาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เรียกว่า ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ เมื่อช่วงปี 2551 – 2553 ที่เรียกว่า โครงการไทยเข้มแข็ง นั้น ปรากฏว่า คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2552 วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้กำหนดกรอบวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินเอาไว้ชัดเจน และได้ส่ง พ.ร.ก.ดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ปรากฏว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว ตราขึ้นเพื่อประโยชน์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 184 วรรค 1 และเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน ตามมาตรา 184 วรรค 2 ซึ่งหลังจากที่ พ.ร.ก. ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ก็ได้มีการดำเนินโครงการตามวงเงินใน พ.ร.ก. มากมาย เช่น โครงการจ่ายเงินอุดหนุนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วงเงิน 23,000 ล้านบาท โครงการถนนไร้ฝุ่นของกรมทางหลวงชนบท วงเงิน 14,657 ล้านบาท โครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสู่มาตรฐาน 7,152 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ ถึงแม้ว่า โครงการบางส่วนจะมีข่าวคราวเรื่องการทุจริต แต่ก็เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบและ สามารถดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม จนสามารถยืนยันได้ว่า โครงการตามงบไทยเข้มแข็งนั้น ทำให้ในปี 2553 เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 7.8% ต่อปี เทียบกับปี 2552 ที่ติดลบ 2.3% รวมทั้ง ถือเป็นการใช้งบอย่างคุ้มค่า ตรงตามวัตถุประสงค์ และเป็นผลงานการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนไทยทุกคนรอดพ้นมาได้
"ที่ผมอธิบายมายืดยาวนี้ ก็เพื่อต้องการให้นายพร้อมพงศ์ เข้าใจว่า การที่รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำนั้น จะกู้เงินมาเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนประสบกับภาวะยากลำบาก และเมื่อดูจำนวนวงเงินแล้ว ก็ถือว่ามีความสมเหตุสมผลที่จะนำมาใช้ดำเนินการ รวมทั้ง ใน พ.ร.ก. เมื่อปี 2552 ก็ระบุว่า เงินที่ได้จากการกู้ ให้ นําไปใช้ จ่ายตามวัตถุประสงค์ ในการกู้โดยไม่ต้องนําส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และยังมีมาตรการต่างๆ ที่ทำให้โครงการที่มาจากเงินกู้มีความโปร่งใส และมีผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด เพราะฉะนั้น จึงตอบได้ว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์กู้เงินมานั้น ได้คืนกลับไปเป็นประโยชน์ของพี่น้องประชาชน โดยที่นักการเมืองและข้าราชการผู้ปฏิบัติตามโครงการเงินกู้ทั้ง 2 โครงการ ต่างมีความสบายใจในการดำเนินนโยบาย ซึ่งต่างจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ทางพรรคเพื่อไทยโหมโฆษณาว่า จะไม่กู้มาดำเนินโครงการแม้แต่บาทเดียว แต่สุดท้าย จำเป็นต้องกู้เงินจำนวนมาก โดยแปะตัวเลข 100,000 ล้านบาทไว้เป็นเงินลงทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อทำให้อ้างได้ว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการเพื่อประโยชน์ของประเทศ โดยมุ่งหวังเพื่อโยนบาปหรือโยนทัวร์ให้ไปลงที่คนที่ไม่เห็นด้วยว่า เป็นคนขวางไม่ให้โครงการเกิดขึ้น รวมทั้ง ผมก็ยังย้ำว่า ข้าราชการประจำในกระทรวงการคลัง ต่างก็มีความไม่สบายใจถ้าจะดำเนินโครงการ ยิ่งวิธีการใช้เงินจริงมาผูกกับเงินในอากาศแล้ว ถือเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวว่าจะประเทศจะเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้น นายพร้อมพงศ์ ไม่ควรที่จะหลับหูหลับตาเชียร์อย่างเดียว แต่ควรฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน ที่แสดงความคิดเห็นเข้ามา เพราะผมเชื่อว่า ถ้าพรรคเพื่อไทย มีหัวใจคือประชาชนอย่างที่ผ่านๆมา นั้น ก็ควรจะรู้ด้วยว่า ประชาชนต้องการเงินสดมากกว่าเงินในอากาศที่ต้องมีขั้นตอนสลับซ้อนวุ่นวายกว่าจะได้เงิน และมีช่องทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตตั้งแต่ต้นจนจบโครงการด้วย" นายชัยชนะกล่าว