กรณีนายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงความคืบหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จำนวน 600,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 บาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 100,000 ล้านบาท ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ รัฐบาลจะมอบสิทธิ์ใช้จ่ายให้กับประชาชนที่เข้าเกณฑ์ตาม 3 เงื่อนไข คือ 1.อายุ 16 ปี ขึ้นไป 2.มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และ 3.มีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท ทั้งหมดจะต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมาย และมีมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนสรุปอีกครั้งนั้น

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นายฉัตร  สุภัทรวณิชย์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เขต 1 จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการเงินดิจิตอล 10,000 บาท สังคมส่วนใหญ่มุ่งประเด็นจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ รวมถึงเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ ที่จะเฟ้นหาเงินงบประมาณ หากจำเป็นต้องกู้ประชาสังคมก็คงจะตั้งคำถามมากมายว่าทำไปเพื่ออะไรจะทำได้หรือไม่

ขั้นตอนล่าสุดได้ประกาศจำแนกประเภทที่จะได้รับสิทธิ์ เงื่อนไขที่ระบุได้สร้างความกังขาเช่นรายได้ขั้นต่ำ เงินฝากในบัญชีซึ่งมีความทับซ้อนของกลุ่มคนที่ถือครองทรัพย์สินรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่มีเงินสดแต่มีอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ ทองรูปพรรณ ฯ แล้วมีความชัดเจนหรือยัง กว่าจะถึงกำหนดตรวจสอบคุณสมบัติแล้วแห่ไปถอนเงินออกมาเป็นเงินสด เพื่อให้เงินในบัญชีมีไม่ถึงตามจำนวน ผลจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการดำเนินโครงการนี้ยังค่อนข้างเป็นเรื่องปลายเปิด สังคมจับตาให้ความสำคัญจะไปจบตรงไหนจะเป็นไปได้จริงหรือไม่

ทั้งนี้มีเสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายสุดท้ายอาจเป็นเกมการเมืองแล้วนำเข้าสู่กระบวนการยื่นญัตติเข้าสภา เพื่อกู้เงินมาทำโครงการนี้ ควรมองหลักการยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณบริหารราชการแผ่นดินมากมาย เราจะไปหามาเงินจากไหน ถ้ากู้ก็ตกเป็นภาระในอนาคตและความคุ้มค่าได้ศึกษาครบถ้วนทุกมิติหรือยัง ข้ออ้างกระตุ้นรากหญ้าเป็นพายุหมุนทางด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้นจริงหรือไม่และจะยั่งยืนหรือไม่หรือปลายทางบริษัทขนาดใหญ่อยู่ในระบบเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์