นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟสบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul ระบุข้อความว่า

[ตำนานคาราบาว]

ผมเติบโตมากับเพลงคาราบาว

เทปม้วนแรกที่ผมได้เป็นเจ้าของ คือ คาราบาว อัลบั้ม เวลคัม ทู ไทยแลนด์ (2530)

ในเวลานั้น ผมอยู่ชั้นประถม 3 ผมได้เทปม้วนนี้มาด้วยวิธีการลงไปดิ้นแด่วๆบนพื้นห้างเซนทรัล สีลม เพื่อขอให้แม่ยอมเจียดเงินจากเงินที่มีอยู่น้อยในกระเป๋าของแม่ มาเปลี่ยนเป็นเทป

ผมเล่นเทปม้วนนี้วนไปวนมากับวิทยุเครื่องเก่าตัวเดียวของบ้าน จนจำขึ้นใจ ร้องได้ทุกเพลง

หัดดัดเสียงแหบๆ เลียนแบบพี่เทียรี่

หัดทำท่าลีดกีตาร์เลียนแบบพี่เล็ก

ร้องดัดเสียงสองคนสลับไปมาแบบดูเอทกันในเพลงคนหนังเหนียว

และอ่านเนื้อเพลงที่พี่แอ๊ดบรรจงเขียนขึ้นมา

ผมชอบเพลง “สังกะสี” มากที่สุด

ปีถัดมา คาราบาวออกอัลบั้มชุดที่ 9 ทับหลัง

ผมสะสมค่าขนมทุกวันๆ จนครบ ไปซื้อเทปอัลบั้มนี้ได้

เสียงเฮลิคอปเตอร์ เสียง ฮา ฮา ฮ่า ฮ้า ในเพลงทับหลัง

ท่วงทำนองในเพลงมิสชาวนา

เพลงน้า ที่ล้อเลียน “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี

เพลงนิกส์ ที่ล้อเลียนการพาประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่

ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในความทรงจำ

ในช่วงเวลาที่คาราบาวแยกวง แต่ละคนออกไปทำงานเดี่ยว ผมใช้เวลาช่วงนี้ไปตามเพลงคาราบาวฟังย้อนหลังทั้งหมด สะสมเงินไปซื้อ 4 อัลบั้มรวมฮิต “ถึก มึน มัน กินใจ” ที่ออกมาในปี 2534

เหตุการณ์พฤษภา 35 ได้เห็นบทบาทของพี่แอ๊ด ในการต่อสู้ เมื่อพี่แอ๊ดออกงานคู่กับพี่อี๊ด แฝดผู้พี่ ในอัลบั้ม “พฤษภา” ผมจึงตามไปอุดหนุน คงเหมือนกับอีกหลายคน ชอบเพลงโด่งดังอมตะอย่าง “ทะเลใจ” และเพลงการเมือง ซาบซึ้ง กินใจ ขนลุก อย่าง “ราชดำเนิน”

คาราบาวกลับมารวมตัวกันแบบ 7 คน (แอ๊ด เล็ก เทียรี่ เขียว อ๊อด เป้า ธนิสร์) ครบทีมอีกครั้งในปี 2538 ในอัลบั้ม “หากหัวใจยังรักควาย” ซึ่งขายคู่สองม้วน

ผมไปเฝ้ารอซื้อตั้งแต่วันแรก ร้านขายเทปแถวๆคลองสาน

ปีถัดมา คาราบาวเล่นคอนเสิร์ตใหญ่แบบรวมตัวกันครบ ในชื่อ “ปิดทองหลังพระ” ที่ อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก ผมสะสมเงิน ขอเงินแม่มาบางส่วน (โดยอ้างว่าเอาไปเรียนพิเศษ) และได้เงินจากแทงบอลได้ จนพอซื้อบัตร ไปกับเพื่อนหลายคน

นี่เป็นคอนเสิร์ตแรกของคาราบาวที่ผมได้ดูสดๆ และเมื่อเทียบกับคอนเสิร์ตเก่าๆที่มาหาดูย้อนหลังในช่วงเติบโต ผมเห็นว่า คอนเสิร์ต “ปิดทองหลังพระ” เยี่ยมยอดที่สุด ทั้งในแง่การเล่นดนตรี ที่ทุกคนปล่อยของเต็มที่ สมาชิกในวงเข้าสู่วัยกลางคน มีทั้งแรงกาย แรงใจ ประสบการณ์ ทั้งสด ทั้งเก๋า

เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาที่เพลงคาราบาวค่อยๆได้รับความนิยมลดลง ผมหันไปฟังเพลงโลโซ และเพลงค่ายเบเกอรี่ตามสมัยนิยม

แต่เพลงเก่าเพลงอมตะของคาราบาวในยุครุ่งเรือง ก็ยังอยู่ในชีวิตประจำวัน และชีวิตวงเหล้า

ผมเดินทางไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ต้นเดือนตุลาคม 2545 หนึ่งในของฝากที่เพื่อนๆให้มา คือ แผ่น MP3 รวมเพลงคาราบาว

แผ่นราคาไม่กี่บาท แผ่นที่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์นี้แหละ ที่บรรเทาอาการคิดถึงบ้าน อาการเหงา และเติมพลังให้ผมตลอดช่วงเวลา 8 ปี

“เราจะยังชอบเพลง ฟังเพลง ของศิลปินที่มีจุดยืนทางการเมือง และแสดงออกทางการเมืองไม่ตรงกับเราได้หรือไม่?”

“เราจะยังชอบเพลง ฟังเพลง ของศิลปินที่กลายเป็นนายทุน กลายเป็นมหาเศรษฐีได้หรือไม่?”

คำถามเหล่านี้คงอยู่ในใจหลายคน ผมเองก็คิดเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานะทางเศรษฐกิจ และชนชั้นทางเศษฐกิจและสังคม ของพี่แอ๊ดในทศวรรษ 20 กับปัจจุบัน ต่างกัน

จุดยืนทางการเมิอง ที่แสดงออกผ่านการสัมภาษณ์และเพลงในยุคหลัง ไม่เหมือนกับที่จุดยืนและสิ่งที่ผมคิด

แล้วเรายังชอบเพลงคาราบาว และวงคาราบาว ได้อีกหรือ?

สำหรับผม ยังยืนยันว่าได้

เนื้อเพลงที่ดี ผ่านไปกี่เดือน ปี ก็ยังคงดี

เพลงอมตะ ผ่านไปกี่เดือน ปี ก็ยังคงอมตะ

ตั้งแต่ปี 30 ที่ผมซื้อเทปคาราบาวครั้งแรก เวลาผ่านไป 36 ปี ผมถึงมีโอกาสพบกับพี่แอ๊ด เป็นการส่วนตัว ได้สนทนา พูดคุย ยาวหลายชั่วโมง ได้มุมมอง ประสบการณ์

นี่คือศิลปินที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน และบทเพลงของเขายังทรงคุณค่าและพลัง

ผมชอบเพลงคาราบาว

เนื้อเพลง (ที่พี่แอ๊ดรับเหมาเขียนเกือบทั้งหมด)

เล่าเรื่องธรรมดาสามัญ ชีวิตของผู้คน ผู้ทุกข์ยาก ผู้ถูกกดขี่ สะท้อนปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ

หลายเพลง อ่านแล้ว ผมตีความประสาผมเองว่า มีเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น และสภาวะแปลกแยก

เพลงรัก ก็เขียนได้ดีมาก - รักทรหด รักต้องสู้ แง้มใจ ลมพัดใจเพ หัวใจบ้าบิ่น

ความกล้าหาญที่นำดนตรีสมัยใหม่ ดนตรีร็อค การลีดกีตาร์ มาผสมกับเพลงการเมือง/สังคม (ที่เรียกันว่า เพลงเพื่อชีวิต) ซึ่งในยุคก่อน มักเป็นโฟล์คมากกว่า

ผมชอบหลายเพลง แต่จะลองรวบรวมมาสัก 11 เพลง คาราบาวที่ผมชอบมากที่สุด เรียงตามลำดับปั ดังนี้

1. หนุ่มลำมูล - ขี้เมา (2523)

นี่คือบทกวีในบทเพลง

2. ไม้ไผ่ - วณิพก (2526)

ปรัชญา และ Solidarity

3. ขี้เมาใจดี - ท ทหารอดทน (2526)

ปรัชญา กฎธรรมชาติ การกักขังและอิสรภาพ

4. ราชาเงินผ่อน - เมดอินไทยแลนด์ (2527)

ชีวิตจริง จากวันนั้น จนวันนี้ ก็ยังจริง

5. ซาอุดร - อเมริโกย (2528) กีตาร์ จังหวะ สนุก มันส์ อยู่ในคอนเสืร์ตเมื่อไร มันส์เมื่อนั้น เนื้อหายังใช้ได้จนถึงวันนี้

6. ถึกควายทุย 7 - ประชาธิปไตย (2529) ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง มนุษย์เป็นผู้กำหนดชะคากรรม

7. สังกะสี - เวลคัม ทู ไทยแลนด์ (2530) แรงงาน ชนชั้น สภาวะแปลกแยก

8. รักต้องสู้ - ทำมือ (2532) เพลงรัก อมตะ

9. ภควัทคีตา - โนพลอมแพลม (2534) ถึงเวลา ต้องรบ

10. ทะเลใจ - พฤษภา (2535) อัตตาและจิต

11. ลมพัดใจเพ - พออยู่พอกิน (2541) บทกวี พรรณา

ผมอ่านข่าว ทราบว่า พี่แอ๊ด ประกาศว่าจะยุบวงคาราบาว ด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพของแต่ละคน คอนเสิร์ต 40 ปี วันที่ 11 พ.ย.นี้ จะเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้าย จากนั้น จะยังมีคอนเสิร์ตอื่นๆที่รับปากไปแล้ว จนถึง 1 เมษายน 67 หลังจากนั้นจะไม่มีคอนเสิร์ตของคาราบาวแล้ว

ใจหายครับ

วงดนตรีที่ผมผูกพัน อยู่กับเสียงเพลงของเขามาตั้งแต่สมัยเด็กประถม จนวัยกลางคน

ผมเลื่อนวันเดินทางไปเยี่ยมภรรยาที่ปารีสออกไป

11 พ.ย.นี้ พลาดไม่ได้ ต้องขอดูคอนเสิร์ตนี้ก่อน

40 เพลง 4 ชั่วโมง

ร่วมสนุกกันครั้งสุดท้ายกับคาราบาว ตำนานดนตรีของประเทศไทย