"บีโอไอ" เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 9 เดือนแรกปี 66 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,555 โครงการ 516,802 ล้านบาท อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 208,288 ล้านบาท รองลงมาคือ เกษตรและแปรรูปอาหาร 55,778 ล้านบาท ยานยนต์และชิ้นส่วน 42,200 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จีนยังครองอันดับหนึ่ง ตามด้วยสิงคโปร์ และญี่ปุ่น
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตัวเลขคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม – กันยายน 2566) มีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,555 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31 และมูลค่าเงินลงทุน 516,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดรับการลงทุนครั้งใหญ่ รวมทั้งการประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี ที่มีเป้าหมายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจใหม่เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนมากขึ้น
“ตัวเลขการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีทิศทางที่ดี ทั้งการขอรับการส่งเสริมการลงทุน และการออกบัตรส่งเสริม ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง รวมทั้งศักยภาพการเติบโตระยะยาวของไทย เห็นได้จากกลุ่มทุนต่างชาติหลายรายยังเดินหน้าลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริษัท ซัมซุง, เคียวเซร่า เอวีเอ็กซ์, แม็กซิม อินทริเกรดเต็ด โปรดักส์, โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์, โซนี่ เทคโนโลยี และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยผู้ผลิต 3 รายล่าสุดที่เพิ่งได้รับอนุมัติเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ ฉางอัน, ไอออน และโฟตอน บริษัทเหล่านี้ให้ความเชื่อมั่นและเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในอาเซียน” นายนฤตม์ กล่าว
ทั้งนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 366,188 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีคำขอจำนวน 171 โครงการ เงินลงทุน 208,288 ล้านบาท รองลงมาอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มีคำขอจำนวน 213 โครงการ เงินลงทุน 55,778 ล้านบาท และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีคำขอจำนวน 151 โครงการ เงินลงทุน 42,200 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มีจำนวน 910 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49 เงินลงทุน 398,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 โดยโครงการจากจีนมีเงินลงทุนมากที่สุด 97,464 ล้านบาท รองลงมาสิงคโปร์ 80,261 ล้านบาท และญี่ปุ่น 43,154 ล้านบาท ตามลำดับ ในแง่พื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการขอรับการส่งเสริมมากที่สุด จำนวน 552โครงการ เงินลงทุน 231,660 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคกลาง มูลค่าเงินลงทุน 135,894 ล้านบาท
สำหรับการขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาเป็นระบบอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทน มีผู้สนใจยื่นขอรับการส่งเสริมเพิ่มขึ้นมาก โดยมีจำนวน 280 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26 มูลค่าเงินลงทุน 18,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25
นอกจากนี้ ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ และประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค (International Business Center) โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ จำนวน 93 โครงการ เงินลงทุน 2,582 ล้านบาท โดยมีบริษัทต่างชาติรายใหญ่เข้ามาลงทุนในกิจการนี้หลายราย เช่น บริษัท เสียวหมี่ เทคโนโลยี จำกัด จากประเทศจีน บริษัท อีคอร์เนส จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนอร์ดิก เป็นต้น
สำหรับประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี ใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี และสร้างงานกว่า 1 แสนตำแหน่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และอาหารแปรรูป ซึ่งจะเป็นสาขาที่มีการจ้างงานมากที่สุด นอกจากนี้ หากพิจารณาจากสถิติการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด จะพบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการออกบัตรส่งเสริม 1,299 โครงการ เงินลงทุนรวม 334,915 ล้านบาท ซึ่งโดยเฉลี่ยโครงการเหล่านี้จะทยอยลงทุนภายใน 6 เดือนถึง 2 ปีภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม
#บีโอไอ #นักลงทุน #ส่งเสริมการลงทุน