ออมสินสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้สังคม ผ่านโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ปี 2566

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เยี่ยมชมการนำเสนอผลงานโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2566 หนึ่งในโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืน มีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการของธุรกิจให้กับสังคมหรือชุมชนทั่วประเทศ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจและมีผลประกอบการที่เหมาะสม เกิดมูลค่าร่วมหรือได้รับประโยชน์ร่วมกัน (Creating Shared Value) ทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยดำเนินงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 67 แห่งทั่วประเทศ ลงพื้นที่สร้างความร่วมมือในการพัฒนากลุ่มชุมชน 345 กลุ่ม ด้วยการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมกว่า 3,000 คน ได้บูรณาการความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ในการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาและทรัพยากรให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีศักยภาพ มีมูลค่าเพิ่ม สามารถตอบสนองต่อความต้องการและการแข่งขันของตลาด ผ่านการร่วมเรียน ร่วมรู้ และร่วมพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงในอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับชุมชน ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนและเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนิสิตนักศึกษาได้ตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เห็นถึงประโยชน์ของส่วนรวม และสร้างจิตสำนึกในการรักถิ่นฐานบ้านเกิด ซึ่งถือเป็นความสำเร็จภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อสังคมของธนาคารออมสินที่จับต้องได้ ที่มุ่งมั่นตั้งใจบูรณาการการดำเนินงานเพื่อสังคมในทุกกระบวนการที่สำคัญ ก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกเป็นรูปธรรม

โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2566 ได้มีการคัดเลือก 30 ผลงาน มานำเสนอผลสัมฤทธิ์ของโครงการ จนได้ทีมชนะเลิศ Best of the Best ประจำปี 2566 จำนวน 7 ทีม 6 ประเภท 6 ดี ได้แก่ ประเภทกินดี อยู่ดี สวยดี ใช้ดี รักษ์ดี และคิดดี และมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้แทนกลุ่มชุมชน โดยมีผู้บริหารธนาคารออมสิน ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา นักศึกษา กลุ่มชุมชน ร่วมงาน ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้

สำหรับทีมชนะเลิศ Best of the Best ประจำปี 2566 มีดังนี้

ประเภทกินดี
>> ทีม เดอะหอย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จากผลิตภัณฑ์ “Bang Chan อาหารแปรรูปจากหอยพง”
     กลุ่มชุมชน : กลุ่มประมงพื้นบ้านอนุรักษ์บ้านบางจัน

ประเภทอยู่ดี
>> ทีม Extraordinary มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จากบริการ “การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม”
     กลุ่มชุมชน : วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชน อิ้วเมี่ยน บ้านห้วยกว๊าน

ประเภทสวยดี
>> ทีม Young ผการันดูล มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จากผลิตภัณฑ์ “ผ้าไหมทอมืออัตลักษณ์ชุมชนขแมร์”
     กลุ่มชุมชน : วิสาหกิจชุมชนผการันดูล

ประเภทใช้ดี
>> ทีม เลขารักษ์พัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จากผลิตภัณฑ์ “สวนหลวง น้ำยาบ้วนปากสมุนไพร”
     กลุ่มชุมชน : กลุ่มสตรีแม่บ้านแควอ้อม
และ >> ทีม ไพรรภัจจ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากผลิตภัณฑ์ “ไร่กองขิง ครีมอาบน้ำสมุนไพรขมิ้นชัน”
     กลุ่มชุมชน : วิสาหกิจชุมชนบ้านไร่กองขิง

ประเภทรักษ์ดี
>> ทีม ไท-ยวนชวนเที่ยว สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จากบริการ “การอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชุมไท-ยวน”
     กลุ่มชุมชน : วิสาหกิจชุมชนไท-ยวนท่าเสาใหม่ฮ่วมใจ

ประเภทคิดดี
>> ทีม รังสิตสามัคคี มหาวิทยาลัยรังสิต จากผลิตภัณฑ์ “Edasama เส้นพาสต้าและพลาสติกชีวภาพจากกากถั่วแระญี่ปุ่น”
     กลุ่มชุมชน : วิสาหกิจชุมชนอาหารจากพืชปลอดภัย