กระทรวงสาธารณสุขเดินหน้านโยบาย Quick win ในประเด็นการป้องกันปราบปรามและบำบัดรักษาฟื้นฟู ผู้ป่วยยาเสพติด ดำเนินการจัดตั้ง 1 จังหวัด 1 “มินิธัญญารักษ์” ภายใน 100 วัน เพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ตอบสนองความต้องการของครอบครัวและชุมชน ช่วยบรรเทาปัญหาความรุนแรงจากยาเสพติดของประเทศให้ลดลง
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบาย Quick win ในประเด็นบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด โดยประกาศจัดตั้ง 1 จังหวัด 1 “มินิธัญญารักษ์” และมอบหมายให้กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบให้มีการรักษาบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดครบวงจรและจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” เพื่อให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาและสารเสพติดในทุกระยะ ตั้งแต่ระยะฉุกเฉินเร่งด่วน ระยะต่อเนื่อง และระยะยาว โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพหน่วยงานในระดับโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ให้สามารถบำบัดฟื้นฟูได้แบบเดียวกับโรงพยาบาลธัญญารักษ์ โดยมีการปรับลดสัดส่วนและศักยภาพให้เหมาะสมกับบริบทสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยมีกรมการแพทย์สนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการ ให้คำปรึกษา เป็นพี่เลี้ยง รวมทั้งรับส่งต่อในกรณีที่เกินศักยภาพของโรงพยาบาลมินิธัญญารักษ์ มายังโรงพยาบาลเฉพาะทาง ได้แก่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สยบช.)และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในภูมิภาคอีก 6 แห่ง จะส่งผลให้สามารถช่วยบรรเทาปัญหาความรุนแรงจากยาเสพติดของประเทศให้ลดลง
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีการจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” จำนวน 42 โรงพยาบาล ใน 27 จังหวัด และขยายเป็น 1 จังหวัด 1 แห่ง ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ภายในธันวาคม 2566 โดยเลือกโรงพยาบาลชุมชนที่มีพื้นที่อาคารแยกเฉพาะ มีแพทย์ปละพยาบาลที่ผ่านการอบรมเรื่องรักษายาเสพติด ทั้งนี้ จะมีการจัดอบรมหลักสูตรมินิธัญญารักษ์ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ภายในเดือน พฤศจิกายน 2566 จัดระบบการให้คำปรึกษา สนับสนุนการดำเนินงาน โดยกำหนดรายชื่อแพทย์ พยาบาล ที่สามารถให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดทุกจังหวัดและทุกเขต เป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟู และลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ลดความเสี่ยงอันตรายต่อผู้ป่วยและสังคม ตอบสนองความต้องการของครอบครัวและชุมชน ลดปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่จะต้องเดินทางไปบำบัดรักษาในต่างจังหวัด จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องครบวงจร สามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัว ใช้ชีวิตได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น ในปัจจุบันการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดในภาครัฐไม่ว่าจะเป็น สบยช. หรือโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาค หรือ “มินิธัญญญารักษ์” จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะมีงบประมาณที่จัดสรรสำหรับผู้ป่วยยาเสพติด และงบประมาณจากสิทธิ์บัตรทอง นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนในส่วนของวิชาการ มีการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงร่วมปฏิบัติและร่วมฝึกทักษะการทำงานในพื้นที่ อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐาน กำกับติดตาม เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการได้รับการบริการอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน