นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Base Economy) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วยเป้าหมายการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันในภาคการเกษตร ให้พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมของไทยให้เป็น "ผู้ประกอบการยุคใหม่" ที่มีวิสัยทัศน์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการที่มีอยู่เดิมให้เกิดการต่อยอดและเพิ่มรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทางกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินกิจกรรม "พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมสู่ต้นแบบอัจฉริยะ" หรือ Mind star 2023 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมในระดับจังหวัดที่มีศักยภาพและความพร้อม สู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ สามารถเป็นต้นแบบการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จแก่ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมทั่วไปได้

กิจกรรมดังกล่าวจะคัดเลือกผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม อาทิ วิสาหกิจขนาดย่อม หรือวิสาหกิจขนาดกลาง หรือ ผู้ประกอบการที่สนใจในกลุ่มเกษตรแปรรูป เกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรหรือ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร หรืออุตสาหกรรมต่อยอดซัพพลายเชน หรืออุตสาหกรรมสนับสนุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากทั้ง 4 พื้นที่ทั่วประเทศ เข้าร่วมรับการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่ทันสมัยในการผลิต และแปรรูปผลิตภัณฑ์/สินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการออกแบบหลักสูตรที่จะสร้างโมเดลทางธุรกิจ ใน 2 รายวิชาหลัก คือ การจัดทำโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business Model Canvas in Marketing Plan), โมเดลการส่งมอบคุณค่าทางธุรกิจ (Value Propositions) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เชิงเกษตร (Commercializing Creativity) เพื่อให้ผู้ประกอบการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวโน้มเชิงพาณิชย์ของการเกษตรสร้างมูลค่า ตลอดจนองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จะนำไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์/สินค้าเกษตรขั้นสูงที่มีคุณค่าเฉพาะ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยเฉพาะตลาดที่มีมูลค่าสูง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างมีศักยภาพ 

กิจกรรม “พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมสู่ต้นแบบอัจฉริยะ” หรือ MIND Star 2023 มีเป้าหมายเบื้องต้นที่จะพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบอัจฉริยะจำนวนทั้งสิ้น 120 กิจการทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้มีการประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยมีแผนจัดอบรมอย่างเข้มข้นใน 4 พื้นที่ เป็นระยะเวลา 3 วัน ได้แก่ จังหวัดชลบุรี, จังหวัดนครศรีธรรมราช, จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดลำพูน 

หลังเสร็จสิ้นการอบรมในภาพรวมแล้ว จะคัดเลือกผู้ประกอบการ 20 กิจการ จาก 120 กิจการเพื่อยกระดับสู่การเป็นต้นแบบอัจฉริยะ โดยทั้ง 20 กิจการ จะได้รับคำแนะนำและคำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง จากที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาศักยภาพสู่การเป็นต้นแบบอัจฉริยะ นอกจากนี้ จะคัดเลือกผู้ประกอบการจำนวน 4  กิจการเป็นต้นแบบอัจฉริยะ ซึ่งจะได้รับการฝึกสอน (Coaching) ณ สถานประกอบการของผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การต่อยอดทางธุรกิจ อาทิ การจับคู่ธุรกิจ การปรับโมเดลธุรกิจ การถ่ายทอดความสําเร็จทางธุรกิจ การเสนอไอเดียทางธุรกิจ เป็นต้น

"เราจำเป็นต้องแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนาธุรกิจ ให้ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ นอกเหนือจากการที่ท่านจะได้รับองค์ความรู้ต่าง ๆ แล้ว สิ่งสำคัญ คือการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพราะการที่เราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงนั้น จำเป็นต้องมีมิตร มีเครือข่าย โดยกิจกรรมนี้จะมุ่งเน้นที่จะพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมที่มีทักษะ และจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ก้าวทัน และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ นอกจากนี้ยังสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ อย่างมีศักยภาพ นอกจากนี้ จากผลการดำเนินโครงการ คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อเนื่องประมาณ 10 ล้านบาท ต่อปี"