หอการค้าฯ เดินหน้าพบ รมช.ไชยา จับมือกระทรวงเกษตรฯ ขับเคลื่อนภาคธุรกิจเกษตร ปศุสัตว์ และอาหารของไทย 6 ข้อเร่งด่วน
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นำคณะกรรมการสายงานเกษตรและอาหาร หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องได้เข้าพบประชุมหารือร่วมกับนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรฯ
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลัก (Core Value Chain) ที่หอการค้าฯ ได้ดำเนินการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของสมาชิกผู้ประกอบการ และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา อีกทั้งต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจเกษตรและอาหารมีความเกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ โดยมีพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 149 ล้านไร่ มีประชากรรายครัวเรือน จำนวน 7.9 ล้านครัวเรือน และมีการจ้างงานในภาคเกษตร แปรรูปภาคเกษตร มากกว่า 15 ล้านคน สำหรับการเข้าพบประชุมหารือร่วมกับนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่หอการค้าไทยได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่สำคัญต่อกรมที่เกี่ยวข้องภายใต้การกำกับดูแลของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงประสานการทำงานอย่างบูรณาการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ทั้งนี้ หอการค้าฯ มีความพร้อมทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยว เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจเกษตรและอาหาร โดยได้เสนอประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะเร่งด่วนข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้
1) การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานของประเทศไทย ตามที่ สหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ใบเขียวประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย และกำลังพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขการใช้แรงงานเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ รวมถึงออกระเบียบห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้แรงงานบังคับ อีกทั้งกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้จัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ปี 2023 อยู่ในระดับ Tier 2 และกำลังออกนโยบาย IUU Fishing ของ US ที่ครอบคลุมการแก้ไขประมงผิดกฎหมาย และลดการละเมิดสิทธิแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยหอการค้าฯ ขอให้ประสานงานสมาคมการค้าและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนและรักษาเสถียรภาพความมั่นคงทางทะเล ด้วยมาตรการป้องกันปัญหาการประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing และประสานงานกระทรวงแรงงาน และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อยกระดับอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของประเทศไทยให้อยู่ในระดับ Tier 1 ในปี 2024
2) การส่งเสริมสินค้าเกษตร อาหาร ประมง และการอำนวยความสะดวกในการส่งออก - นำเข้า เสนอให้ กระทรวงเกษตรฯ กำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อสร้างความสมดุลและเสถียรภาพการนำเข้า-ส่งออกภาคเกษตรและอาหาร ระหว่างเกษตรกร และผู้ประกอบการส่งออก เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งปลอดโรค แข็งแรงและเติบโตได้ไว และหาแนวทางส่งเสริมและลดภาระต้นทุนการเลี้ยงให้กับเกษตรกร รวมไปถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรม (Value Chain) ตลอดจนลดภาษีการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ และควรผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบสัตว์น้ำเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่า (Value Added) และส่งออก โดยไม่กระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงภายในประเทศ อาทิ กุ้งขาวแวนนาไม สัตว์น้ำอื่นๆ (หมึก ปูทะเล ปลาซูริมิ) จากประเทศที่มีปริมาณผลผลิตจำนวนมาก หากมีการตรวจพบโรคระบาดที่ด่านนำเข้าให้สามารถส่งกลับคืนประเทศต้นทางได้ และสนับสนุนการหาแหล่งวัตถุดิบทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงไทย เป็นต้น
3) ข้อเสนอเพื่อพัฒนาธุรกิจการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย โดยได้เสนอให้มีการปรับลดขั้นตอนการนำกลับสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ทำให้เพิ่มเวลาและค่าใช้จ่าย ระหว่างรอการพิจารณา 1 ถึง 1.5 เดือน และได้เสนอการตรวจรับรองระบบแหล่งผลิตเพื่อนำเข้าวัตถุดิบปศุสัตว์ เกรดไม่เหมาะสำหรับมนุษย์บริโภค (Inedible grade) ภายใต้พิกัด 0511.99.90 จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อผลิตสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ตลอดจน ข้อเสนอผ่อนผันกฎระเบียบการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไปสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Customs of the People's Republic China)
4) ข้อเสนอเพื่อพัฒนาธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป โดยได้เสนอให้ส่งเสริมยกระดับมาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์ไทย (โดยเฉพาะกลุ่มโคเนื้อ แพะ) , ส่งเสริมและเพิ่มจำนวนโรงฆ่าสัตว์, โรงตัดแต่งเนื้อสัตว์, โรงคัดบรรจุที่มีมาตรฐานให้เพียงพอความต้องการ และส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์ที่ขาดแคลนเพื่อลดการนำเข้าและส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ตลอดจน การแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้า-ส่งออก สินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทย และการแก้ไขปัญหาเกษตรกรสุกรรายย่อย ขาดความสามารถในการแข่งขันเพื่อเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่ เป็นต้น
5) ข้อเสนอเพื่อพัฒนาธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งไทย โดยได้เสนอการขับเคลื่อนโครงการปรับปรุงการทำประมงอย่างยั่งยืน (Fishery Improvement Project : FIP) และการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับมาตรการของสหภาพยุโรปในประเด็น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism), Carbon footprint และการเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
6) ข้อเสนอเพื่อพัฒนาธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต โดยได้เสนอการผลักดันการจัดทำระบบอาหารที่มีการกล่าวอ้างอาหารเชิงหน้าที่ (FFC Thailand) และ แนวทางข้อเสนอแก้ไขปัญหาการส่งออกสับปะรดกระป๋องของไทยมีแนวโน้มลดลงนับตั้งแต่ปี 2560 ตลอดจน ข้อเสนอแก้ไขปัญหาการแข่งขันของข้าวโพดหวานในตลาดโลกรุนแรงขึ้น
#หอการค้า #เกษตร #อาหาร #ปศุสัตว์