กมธ.พัฒนาการเมืองฯ วุฒิฯ ประชุมร่วมอนุก.ก.ประชามติแก้ รธน. นิกร เตรียมหารือก้าวไกลต้นเดือนพ.ย. ก่อนเดินสายฟังความเห็นทั่วประเทศ ด้าน จเด็จ ย้อนถาม แก้รธน.ประชาชนได้ประโยชน์อะไร เผย สว.ค่อนสภาฯ ไม่เอาด้วยแก้ทั้งฉบับ ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาจำคุก 3 ปี เบนจา ร่วมเวทีปราศรัยคาร์ม็อบใหญ่ ปี 64 ไล่ บิ๊กตู่ โทษจำรอลงอาญา 2 ปี

   
 ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 30 ต.ค.66 คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรม นูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 โดย นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำคำถาม ที่ตั้งเป็นตุ๊กตามาให้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา และขอให้ร่วมกันตั้งคำถาม เพื่อไปถามสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งหมด เนื่องจากส.ว.มีส่วนในการลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้ทราบแนวทางว่าถ้าส่งมาแล้วจะรับหรือไม่ โดยหลังจากนี้ต้องรอเปิดสมัยประชุมสภา จะได้ส่งคำถามไปให้ จากนั้นจะรวบรวมสรุปออกมา และในวันที่ 2 พ.ย.นี้ จะหารือกับ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ซึ่งจะมีเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน แต่ความเห็นของทั้งทางวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรน้ำหนักจะต่างกัน และอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องไปพูดคุยคือพรรคก้าวไกล เพราะพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับหลักการนี้ เพื่อฟังความเห็นตรงที่ไม่เห็นด้วย และหาแนวทางคลี่คลายและในวันที่ 8 พ.ย.นี้ จะมีการรับฟังเยาวชนคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษา ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการทำเป็นโฟกัสกรุ๊ป โดยจะมี นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ร่วมรับฟังด้วย 
    
 หลังจากนั้นจะเดินสายรับฟังความเห็นแต่ละภาค รับฟังเกษตรกร และชาวชนบทที่ภาคอีสาน จ.สกลนคร หลังจากนั้นจะภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ฟังความเห็นเมืองท่องเที่ยวและชาติพันธุ์ จากนั้นจะไปภาคตะวันออกในมุมมองของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรรม สุดท้ายวันที่ 7 ธ.ค.66 จะลงไปฟังความเห็นพี่น้องชาวมุสลิม และเขตชายแดนที่ภาคใต้ ซึ่งไม่ได้ความคิดเห็นครบทั้งหมดแล้วก็จะมีการสรุปในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค. และคงได้ข้อสรุปจากคณะใหญ่ในช่วงปลายสัปดาห์ และต้นปี 2567 ก็จะเสนอให้รัฐบาลได้
    
 ด้าน นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว.ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการรับฟังความเห็นในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ว่า ทางกมธ.พัฒนาการเมืองฯกำลังรับฟังกันอยู่ แต่ในมุมมองของตน ตนว่าคำถามหนึ่งที่ไม่ค่อยได้พูดให้ประชาชนทราบ ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญไปทำไม แก้แล้วได้ประโยชน์อะไร ที่ตนพูดไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วย แต่ช่วยไตร่ตรองให้ดีว่า อะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนก็ควรทำ หากแก้แล้วประชาชนมีงานทำมากขึ้น มีความสมดุลของรายได้เพิ่ม เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น ตนว่าก็ควรแก้ แต่ตนยังไม่เห็นประโยชน์ เป็นการแก้เอามัน ไม่ได้แก้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
         
  ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ยังไม่ต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายจเด็จ กล่าวว่า ยังไม่ต้องเร่งทำ หากกังวลเรื่องอำนาจสว. ชุดนี้ก็จะหมดลงในเดือนพฤษภาคม 2567 ไม่ต้องกังวลเรื่องเหล่านี้ ตรงกันข้ามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะก่อให้เกิดการถกเถียง แสดงความเห็นต่าง ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งต่อคนในชาติ ที่สำคัญประชาชนประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันหลักของชาติได้อะไรขึ้นมา ซึ่งขณะนี้พวกเราอยู่กันอย่างมีความสุขแล้ว
        
 เมื่อถามต่อว่า แต่บางพรรคการเมืองได้ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงและจะสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่าง จะมีข้อเสนอแนะอย่างไร นายจเด็จ กล่าวว่า ตั้งแต่พรรคการเมืองประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร แก้เพื่ออะไร ยิ่งไปตั้งส.ส.ร. และทำประชามติ ยิ่งทำให้เปลืองงบประมาณมากมาย ตนว่าลองคิดให้ดีๆ ส่วนทางออกตนมองว่าเราก็ต้องมีการพูดคุยหามุมมองกัน ตนว่าในที่สุดแล้วก็คงไปไม่ถึงทำประชามติเพื่อยกร่างใหม่
       
   เมื่อถามว่า หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าที่มารัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากการทำรัฐประหารจึงต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายจเด็จ กล่าวว่า ก็พูดวนอยู่อย่างนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการทำรัฐประหาร แต่ก็มาจากการทำประชามติ รับฟังความคิดเห็นประชาชนเช่นกัน ประชาชนก็ได้แต่นั่งมองว่าเมื่อไหร่เศรษฐกิจจะดีขึ้น เมื่อประชาชนจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่านี้ในหลายๆ ด้าน พูดกันตรงนี้ดีกว่า
    
 เมื่อถามว่า หากเสนอเข้าที่ประชุมสภาฯ นายจเด็จจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ นายจเด็จ กล่าวว่า ตนจะดูว่าเขาจะยังแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือจะแก้เป็นรายมาตรา ตนก็จะอภิปรายว่าในแต่ละมาตราที่จะแก้นั้น เป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ หากแก้ทั้งฉบับตนก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ส่วนมีส.ว.คนอื่นๆ คิดเช่นเดียวกันกับตนด้วยหรือไม่นั้น ก็ค่อนสภาที่คิดแบบนี้
      
 เมื่อถามว่า แม้จะยกเว้นการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ทางส.ว.ก็ยังคงไม่เห็นด้วยใช่หรือไม่ นายจเด็จ กล่าวว่า ต้องดูอีกทีเพราะหมวด 1 และหมวด 2 มีกว่า 38 มาตรา ซึ่งหลีกเลี่ยงยาก มีหลายอย่างที่ควรคำนึงให้มาก และที่สำคัญคือประชาชนได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาจากการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
    
 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีพนักงานอัยการฯ โจทก์ ฟ้อง น.ส.เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นจำเลย ในข้อหากระทำความผิดมาตรา 112 กรณีที่ น.ส.เบนจา ปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ประกาศแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบ ใหญ่ไล่ทรราช เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 สมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ โดยศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยมีความผิด พิพากษาจำคุก 3 ปี และปรับ 8,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี