ชูศักดิ์แนะพรรค-ทุกฝ่าย จับเข่าคุยหาทางออก หลังสว.คว่ำร่างพรบ.ประชามติ "ภูมิธรรม" เตรียมหารือหัวหน้าพรรคการเมืองแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หลังฟื้นเกณฑ์ประชามติ2ชั้น 'ทวี'เชื่อพรรคสีน้ำเงินไม่มีเอี่ยว สว.คว่ำร่างกม.ประชามติ ด้านปชน.เผยหากฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยพักแก้มาตรฐานจริยธรรม อาจทำ 6 แพคเกจที่เหลือสะดุด 

      ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 ต.ค.67 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว. ) คว่ำร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับส.ส. ว่า หัวหน้าพรรคต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร เมื่อถามว่า คนประสานจะเป็นใคร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เจ้าภาพอาจจะเป็นประธานวิปรัฐบาลที่จะนัดคุยกัน เมื่อถามว่า การประชุมหัวหน้าพรรค นายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าประชุมด้วยหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อาจจะมอบหมายก็ได้ ถ้าลองคิดดู ถ้าเรามีคณะทำงานสัก 1 ชุดก่อน ประกอบด้วย ผู้แทนนักการเมืองทุกพรรค รวมทั้งฝ่ายค้าน เป็นคณะทำงาน และมาพูดคุยกันว่าถึงเวลานี้แล้วมันมีปัญหาแบบนี้แล้ว เราจะเดินต่อไปอย่างไร เพราะตนเข้าใจว่าทุกพรรคมีเจตนาว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อขณะนี้มันมีปัญหาแบบนี้ สุดท้ายจะเดินกันอย่างไร อาจจะไม่เป็นทางการก็ได้ มานั่งคุยกัน ตัวแทนจากพรรคก็มาเสนอความเห็นว่าจะทำอย่างไร ทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล อยู่ฝ่ายอะไรก็ว่ากันไป เพราะไม่มีใครที่ค้านไม่ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพียงแต่มันขัดข้องทางเทคนิค เพราะฉะนั้นก็มาลองคุยกันดู ได้ข้อยุติเป็นประการใด เดินกันแบบนี้มันจะได้ง่าย
   
  ดีที่สุดผมว่าทุกพรรคการเมืองต้องมานั่งคุยกัน ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง อาจจะเป็นตัวแทนพรรค 1-2 คนมานั่งคุยกัน เมื่อมาถึงขนาดนี้ เดินต่อไปแบบนี้ ทำแบบนี้ ฝ่ายค้าน รัฐบาล ทุกพรรคการเมือง ถ้าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจะเดินกันอย่างไรต่อไป นายชูศักดิ์ กล่าว
    
 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณี นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอให้คุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หลังสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แก้ไขร่างพ.ร.บ.ประชามติ โดยใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double majority) ซึ่งจะส่งผลให้การแก้รัฐธรรมนูญมีการแก้ยากลำบากขึ้น ว่า คงต้องมีการหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองตามที่นายชูศักดิ์เสนอ ส่วนที่ สว.มีมติกลับมาใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ต้องดูขั้นตอนต่อไปว่ามีการตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภาว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งระหว่างนี้ต้องคุยกับหัวหน้าพรรคการเมืองว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เพราะความเห็นของเราและสว.ไม่ตรงกัน
    
 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวถึงกรณี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะนัดหารือแกนนำพรรคการเมือง เรื่องแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ยังไม่ได้นัด เพียงแต่ได้ยินจากสื่อมวลชน โดยปกติพรรคร่วมรัฐบาลจะนัดคุยกันอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมามีเหตุการณ์น้ำท่วม จึงต้องไปช่วยเหลือประชาชนก่อน แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งตามระยะเวลาของรัฐบาลจะอยู่อีก 3 ปี ในการแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นเจตจำนงของรัฐบาล ที่จะต้องแก้ ต้องคุยกัน เพราะต้องใช้เสียงในสภาคือ การยกมือลงมติ
   
  เมื่อถามว่า  สว.คว่ำร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับสส. ให้กลับไปใช้แบบ 2 ชั้น ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญลำบากขึ้น มองว่าเป็นการยื้อการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่ได้มองแบบนั้น สภาต้องมีพื้นที่สำหรับคนที่เห็นต่างกัน สว.เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์อาจจะมีมุมมอง ซึ่งสภาเขาให้มาคุยกัน ไม่ได้ให้มาทะเลาะกัน
    
 เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องพึ่งเสียง สว. จึงถูกมองว่ามีบางพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามแนวทางของตัวเอง พ.ต.อ.ทวี  กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะเริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็พูดเรื่องนี้เป็นคนแรก 
     
เมื่อถามว่า จะเป็นใบสั่งของพรรคสีน้ำเงินที่ให้ สว.คว่ำร่างพ.ร.บ. ประชามติหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่มี คนที่จะสั่งรัฐบาลได้คือ ประชาชน ประชาชนไม่ได้อยู่รับใช้รัฐบาล รัฐบาลต้องอยู่รับใช้ประชาชน คนที่จะสั่งรัฐบาลได้คือประชาชน ถามถึงการหารือของพรรคร่วมรัฐบาล จำเป็นต้องมีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่ รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า การหารือก็เหมือนการเสวนา ไม่ใช่การโต้วาที การหารือมีความเห็นแตกต่างกันได้ ส่วนการโต้วาทีคือ การทะเลาะกันกลายๆ เอาชนะด้วยคารม การเสวนาอาจจะมีความเห็นไม่เหมือนกันได้ แต่สุดท้ายจะจบด้วยความสามัคคีกัน
    
 เมื่อถามว่า การที่สว. คว่ำร่างพ.ร.บประชามติ จะส่งผลเสียกับรัฐบาลหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เป็นอำนาจของ สว. รัฐธรรมนูญมีช่อง หากเห็นไม่ตรงกัน แย้งขึ้นไปได้ เมื่อถามว่า มีความเป็นห่วงว่าหากยื้อ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่ได้ห่วง เพราะสุดท้ายอยู่ที่เหตุผล แม้ สว.จะไม่ได้ถูกเลือกจากประชาชนโดยตรง เข้ามาโดยระบบเลือกตั้งทางอ้อม เชื่อว่า สว.ต้องเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึงเวลาที่จะต้องปรับปรุง พัฒนา จึงไม่มีความน่าเป็นห่วง เมื่อถามอีกว่า จะถือว่าเป็นการยื้อมรดก คสช. หรือไม่ พ.ต.ท.ทวี กล่าวว่า ขอไม่มองอย่าไปคิดให้ทะเลาะกันดีกว่า
    
 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีวุฒิสภามีมติแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ว่า ต้องคุยกับนายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนาในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ก่อน เนื่องจากยังไม่มีการรายงานมาว่าขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม เรื่องกฎหมายประชามติต้องหารือทั้ง ส.ส.และ สว. ซึ่งทุกอย่างตามกติกาเป็นเรื่องสำคัญ เวลาเป็นอย่างไร ต้องทำภายในระยะเวลาเท่าไหร่ หากตอนจบล่าช้าก็เป็นเพราะเงื่อนไขของเวลาที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า เสี่ยงที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่มีการพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย เพราะคณะรัฐมนตรีทุกคนได้ออกไปช่วยเหลือประชาชนจากอุทกภัยอย่างเต็มที่
   
  เมื่อถามว่า นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ระบุต่อไปหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องมีการพูดคุยกันมากขึ้นหลังจากกฎหมายประชามติสะดุด นายวราวุธ กล่าวว่า คุยกันตลอดอยู่แล้ว ทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ รวมถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เราอยู่ในไลน์กลุ่มด้วยกัน มีการพูดคุยกันตลอด ดังนั้น ความใกล้ชิดของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไม่เคยห่างกัน
    
 ด้าน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 แพคเกจของปชน.ที่มีการพักเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไป ว่า เรื่องนี้เป็นระบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เห็นได้ชัดว่าหากจะแก้ไขต้องรับความเห็นตรงกันจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่ง ส.ว. ฝั่งรัฐบาล
   
  นายณัฐพงษ์กล่าวว่า แต่สิ่งที่ปชน.ยืนยันตอนนี้คือเรายืนยันว่ามาตรฐานจริยธรรมมีปัญหาที่เราต้องไปแก้ แต่ตอนนี้ที่พักไว้ก่อนเพียงแค่หากฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วย อาจทำให้การเดินหน้าทั้ง 7 แพคเกจอาจจะถูกตีตกไปเลย เราจึงพักประเด็นจริยธรรมไว้ แต่ยังเหลืออีก 6 แพคเกจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เชื่อว่าหากรัฐบาลเห็นตรงกัน ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เห็นด้วยกับอีก 6 แพคเกจ รวมถึงยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้สองทาง ควบคู่ไปด้วยกันคือการแก้ไขทั้งฉบับและการแก้ไขรายมาตรา ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะได้มีการหารือร่วมกันถึงการผลักดันอีก 6 แพคเกจที่เหลือ
    
 นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรมนั้น เราแก้ในเชิงระบบ ไม่ได้แก้ไขมาตรฐานจริยธรรมนักการเมืองเพียงอย่างเดียว ยืนยันว่านักการเมืองควรมีมาตรฐานจริยธรรม เพียงแค่กลไกมาตรฐานจริยธรรมควรเป็นกลไกที่เราตรวจสอบกันภายในองค์กร ไม่ควรถูกผูกขาดจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทั้งกำหนดกติกาและบังคับใช้เอง ซึ่งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองในเหตุการณ์ที่ผ่านมา
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องแสวงหาแนวร่วมเพิ่มเช่น พรรคภูมิใจไทย (ภท.) หรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม หากเห็นประโยชน์ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนในอีก 6 แพคเกจที่เหลือของปชน. ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยกันทั้งหน้าบ้าน หลังบ้านอยู่แล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการปกติ แต่ยืนยันว่ายังไม่เห็นสัญญาณว่าไม่เห็น แต่อย่างที่ทุกคนเห็นตามหน้าสื่อ เช่น เรื่องมาตรฐานจริยธรรม ก่อนหน้าทุกพรรคการเมืองเห็นด้วยมาโดยตลอด แต่ท้ายที่สุดก็มีการเปลี่ยนข้อคิดเห็นบ้าง จึงอยากให้ติดตามการประชุม ทั้งนี้ที่ผ่านมาก็พูดคุยมาตลอดอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถพูดแทนพรรคอื่นได้ โดย 6 แพคเกจนี้ คาดว่าน่าจะดำเนินการได้ในช่วงต.ค.
     
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มติวุฒิสภา แก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฟื้นเกณฑ์เสียงข้างมาก2ชั้น ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวยอมรับว่า มีผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) บังคับใช้ได้ทันในการเลือกตั้งทั่วไป ปี2570 ตามที่รัฐบาลสัญญา อย่างไรก็ดีตนมองว่ายังมีโอกาสที่ทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใช้ทันการเลือกตั้งปี2570 คือ ลดจำนวนประชามติ จาก 3 ครั้ง เป็น 2 ครั้ง โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่เกี่ยวกับ สสร. ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเสนอ หากบรรจุและพิจารณาสามารถเดินหน้าโรดแมปได้
     
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าประธานรัฐสภากังวลว่าการบรรจุจะขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขึ้นอยู่ที่ประธานรัฐสภาจะทบทวน เพราะเห็นว่าการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลเลย สำหรับกรณีที่วิปรัฐบาลเตรียมหารือทุกพรรคการเมืองเพื่อหารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สามารถหารือได้ไม่เป็นปัญหา แต่ไม่อยากให้ใช้เวลานานไป เนื่องจากหาไม่รีบหาทางออก โอกาสมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งจะลดริบหรี่ลง
    
 เมื่อถามถึงกรณีที่สว. 167 เสียง เห็นชอบฟื้นเกณฑ์ประชามติ 2 ชั้น จะเป็นอุปสรรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้า 167 เสียงที่โหวตกลับลำร่างพ.ร.บ. ประชามติ ตัดสินใจที่จะขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกเรื่อง ในเชิงสถิติตัวเลข จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีอุปสรรคแน่นอน แต่ยังมีความหวังว่า จะได้รับความเห็นชอบจาก สว. ในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้สามารถไปต่อได้