นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ร่วมเสวนา “รู้เท่าทันภัยออนไลน์ ห่างไกลวิถีสแกมเมอร์” จัดโดย Meta (Facebook) โดยการเสวนามุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และส่งเสริมความร่วมมืออันดี ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและ Meta เพื่อป้องกันและลดปัญหาหลอกลวงออนไลน์
นายเวทางค์ กล่าวว่า รัฐบาลและ ดีอี ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาหลอกลวงออนไลน์ โดย ดีอี มีนโยบายเชิงรุก เน้นที่การป้องกัน ตัดตอน และบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน สรุปได้ดังนี้
1. การป้องกัน โดยเฉพาะการให้ความรู้และการปิดกั้นเว็บหรือ เพจหลอกลวง ซึ่ง ดีอี ได้เปลี่ยนวิธีการใช้คน ดีอี มากขึ้น ร่วมมือกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มมากขึ้น จากเดิม ปี 2566 ปิดกั้นเว็บ/เพจผิดกฎหมาย เฉลี่ยสถิติ 53 เพจ/รายการต่อวัน (ประมาณ 1500 รายการต่อเดือน) เป็นเฉลี่ย 350 เพจ/รายการต่อวัน (ประมาณ 10,500 รายการต่อเดือน)
2. การเร่งตัดตอนวงจรอาชญากรรม โดยเฉพาะซิมม้า (โจรใช้ติดต่อสื่อสาร) บัญชีม้า (โจรใช้รับ-โอนเงิน) ซึ่งตามกฎหมายใหม่ที่ออกมา ผู้ขายมีโทษหนัก จำคุก 3 ปี ผู้เป็นนายหน้าจัดหามีโทษจำคุก 2 – 5 ปี และมีการเร่งแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปิดบัญชี จับกุมคนร้ายที่เกี่ยวข้อง
3. การบูรณาการทำงาน ใช้เทคโนโลยีเชิงรุก โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) เพื่อบูรณาการทำงาน ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงาน กสทช. เป็นต้น เพื่อใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย บุคลากร และแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์
“ในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ช่วยให้เรามีชีวิตที่สะดวกสบาย หลายคนร่ำรวยจากโลกออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ธุรกิจ เข้าถึงลูกค้าเป็นล้านๆ คนได้ง่ายๆ แต่ในขณะเดียวกัน คนร้ายก็ใช้ช่องทางและเทคโนโลยีดิจิทัล ในการทำร้าย หลอกลวงประชาชน เข้าถึงคนหมู่มากเป็นล้านๆ คน ได้โดยง่ายเช่นกัน ขอโซเชียลมีเดียช่วยเข้ม เรื่องการขายโฆษณาให้คนร้าย ทำงานร่วมกับ ดีอี ใกล้ชิด เพื่อแก้ไขปัญหาโจรออนไลน์ ดียิ่งขึ้น” นายเวทางค์กล่าว
น.ส.เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก เมตา ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า ช่วงไตรมาสสอง ปี 2566 เมตา ได้ลบบัญชีเฟซบุ๊กปลอม ออกกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลก โดย 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกด้วยเทคโนโลยีเอไอ ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้ โดยก่อนหน้านั้นในเดือน ธ.ค.2565 ได้ลบเนื้อหาที่เป็นภัย หลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านชิ้น ซึ่ง 95.3% ตรวจจับโดยเอไอและยังดำเนินการกับปัญหาการปลอมแปลงตัวตน เป็นผู้อื่น ทั้งในเชิงธุรกิจและโฆษณาต่าง ๆ
เรื่องเพจปลอมที่มีการซื้อโฆษณาเพื่อใช้หลอกลวงนั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และมิจฉาชีพก็พยายามหาช่องทางต่างเพื่อให้รอดจากการตรวจจับจากเอไอ ซึ่งก็มีการให้บุคคลในการตรวจคัดกรองด้วย ซึ่งหากผู้ใช้งานพบเพจหลอกลวงก็สามารถรายงานเข้ามายังเฟซบุ๊กเพื่อตรวจสอบและระงับบัญชี โดยเร็ว
น.ส.อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ เฟซบุ๊ก ประเทศไทยจาก เมตา กล่าวว่า ได้บูรณาการ ความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับธุรกิจและผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม หากพบว่าบัญชีใด มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการหลอกลวง เจ้าของบัญชีดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ใช้งานบัญชีปลอมหรือนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตนเองที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งหากเจ้าของบัญชีไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ ตามที่กำหนด หรือหากบุคลากรผู้ตรวจสอบพบว่ามีการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ บัญชีดังกล่าวก็จะถูกลบ