เศรษฐา ระบุทีม"ดิจิทัลวอลเล็ต" พบผู้ว่าธปท. รับฟังความเห็นทุกฝ่ายปรับเงื่อนไขตามข้อเสนอ เน้นจ่าย 1 หมื่น รอบเดียวจบ ไม่จ่ายให้คนรวย 'พวงเพ็ชร'ปิ๊งไอเดียดึง ติ๊กต๊อก บูมแจกเงินดิจิทัล ด้านวิปรบ.วิปรัฐบาล กลับมติ ถกญัตติประชามติ จ่อตลบหลัง หัก 'ก้าวไกล'

 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ทีมงานได้หารือเบื้องต้นกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ถึงการปรับเงื่อนไขต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายได้เสนอ โดยในด้านการกำหนดกรอบคนที่จะได้รับเงินดิจิทัลยังต้องหาคำจัดกัดความที่เหมาะสมและเป็นธรรมของทุกฝ่าย ส่วนความคืบหน้าเรื่องเม็ดเงินที่จะทำมาใช้ในโครงการนี้ต้องรอประชุมก่อน

 สำหรับกรณีที่มีข้อเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินดิจิทัลเป็น 3 งวด ได้มีการพิจารณาแล้ว โดยจะจ่ายเพียง 1 รอบ 10,000 บาท เนื่องจากมองว่าเป็นเม็ดเงินที่ใหญ่กว่าทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง สำหรับกรณีที่มีประเด็นความกังวลว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตขัดต่อกฎหมายไม่ได้มีความกังวลในเรื่องนี้

 "เราน้อมรับคำแนะนำของผู้ว่าธปท. ว่ามาตรการควรจะเจาะจงมากขึ้น ตอนนี้วงเงิน 5.4 แสนล้านบาท เป็นการจ่ายครั้งเดียวไม่ใช่งบผูกพัน แต่กำลังพิจารณาว่าอาจจะลดลงหากมีคนสามารถให้คำจำกัดความได้ว่าคนรวยตัดที่ตรงไหน ดูจากรายได้ หรือดูจากทรัพย์สิน นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องระยะทางการใช้วงเงินด้วย ส่วนความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ตอนนี้ยังไม่มีกำหนดการประชุม ต้องรอความคืบหน้าจากรมช. คลังก่อน โดยจะพยายามให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้เร็วที่สุด"
 
นายเศรษฐา ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจมีความเปราะบาง ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีของไทยเติบโตในอัตราที่ต่ำมากเฉลี่ย 1.8% ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 10 ปีที่ผ่านมาสูงสุดเป็นอันดับท็อป 10 ของโลก จึงเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่เหตุการณ์สงครามอิสราเอลแม้จะมีความรุนแรงแต่แรงงานไทยยังไม่อยากกลับประเทศเนื่องจากนายจ้างให้เงินเพิ่มและต้องหาเงินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวบ่งบอกถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจ
 
"สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยต้องการกระตุ้น ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ต้องเกิดขึ้นทั้งมาตรการระยะสั้น เช่น ลดค่าครองชีพ และระยะยาว เช่น การเจรจา FTA ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ทำ"
   
  นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ  ได้เรียกรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าไปหารือในเรื่องของนโยบายควิกวิน เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ว่า เรื่องประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องที่สำคัญ เราจะให้นโยบายของรัฐบาลเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด จะชี้แจงว่านโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างไร ต้องทำความเข้าใจให้มากโดยเฉพาะนโยบาย 10,000 บาทดิจิทัลวอลเล็ต ว่าเงินมาจากไหน หรือไปที่ไหน อย่างไร ใช้จ่ายอย่างไร หลายเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีประโยชน์ต่อประชาชนนั้นเราต้องพยายามชี้แจงให้เข้าทั่วถึงกับทุกกลุ่ม
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้ประชาชนไม่เข้าใจกันเยอะเรื่องของ 10,000 บาทดิจิทัลวอลเล็ต จะมีแนวทางชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจได้อย่างไร นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการคลังที่เราพยายามชี้แจงในทุกสื่อต่างๆ ชี้แจงในเรื่องของที่มาของเงิน ระยะเวลา ใช้ที่ไหนอย่างไร และผลประโยชน์ที่จะได้รับ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล
   
  เมื่อถามว่า จะประชาสัมพันธ์ในช่องทางไหนเป็นพิเศษ นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า เป็นสื่อทั่วไป และพยายามให้สื่อมวลชนช่วยตรงนี้ด้วย อยากให้เห็นความสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศ อย่าไปมองในเรื่องของรายละเอียดซึ่งบางทีเหมือนเป็นอีกด้านหนึ่ง ไม่อยากจะมองว่าเป็นด้านลบ แต่อยากให้มองว่าเป็นด้านบวกที่เราได้พยายามที่จะทำให้ประเทศชาติได้กระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการต่อเนื่องกัน
   
  ผู้สื่อข่าวถามถึงการหารือกับติ๊กต็อก นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ติ๊กต็อกเป็นเรื่องที่อินเทรนด์ในเรื่องของโซเชียลมีเดีย เราพยายามทำทุกสื่อ ทางติ๊กต็อกประเทศไทยจะมาสอนเทคนิคและวิธีทำติ๊กต็อกต่างๆ ให้ทันสมัยเพราะว่าเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของคนทุกรุ่นทุกวัย เมื่อถามว่า มีการใช้ไอโอบ้างหรือไม่ เพราะต้อนนี้มีไอโอของคนที่จะมาดิสเครดิตในส่วนของนโยบายรัฐบาล นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ไม่มีเลย เราไม่มีการตอบโต้เรื่องไอโอเลย และยังไม่ได้คิดทำเรื่องนี้ ตอนนี้พยายามที่จะชี้แจงในเรื่องของเฟคนิวส์ต่างๆ มากกว่า
     
  "เราเจอเฟคนิวส์ เราเจอข่าวปลอมเราก็มีกระทรวงดีอีเอสที่จะช่วยเราตรงนี้ มีหน่วยงานในเรื่องของการปิดเฟคนิวส์ต่างๆ และเราจะมีในส่วนของกรมประชาสัมพันธ์ในเรื่องของการให้ตรวจสอบว่าข้อมูลไหนเป็นข้อมูลจริงอีกด้วย" นางพวงเพ็ชร กล่าว
    
 ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เปิดเผยถึงผลการประชุมกมธ.เกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งเชิญองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 หารือ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่าทั้ง 3 หน่วยงาน คือ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีรายละเอียดคือ ส่วนของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้นแจ้งว่าอยู่ระหว่างการติดตามการดำเนินนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล โดยรวบรวมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ และรอฟังความชัดเจนของการดำเนินนโยบายว่าจะเกิดความเสียหายต่อการเงินการคลังหรือผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นเพียงขั้นเตรียมการ
    
 นายเสรี กล่าวด้วยว่า ส่วน ป.ป.ช. มีผู้อำนวยการของสำนักงานที่รับผิดชอบโดยตรงมาชี้แจงโดยแจ้งว่าอยู่ระหว่างการติดตามรายละเอียด ขณะที่กกต. ส่งรองเลขาธิการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งกมธ.ให้ข้อสังเกตต่อการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่เสนออีกอย่าง แต่ทำไม่ได้หรือทำอีกอย่างที่ขาดหลักเกณฑ์และกรอบ ซึ่ง ตัวแทน กกต.ยอมรับว่ามีปัญหา เนื่องจากแต่ละพรรคการเมืองเสนอนโยบายมามากโดยระบุหลักว่าใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งกว้างขวางเกินไป ดังนั้นกกต.จะพิจารณาแนวทางบริหารจัดการ ที่มีหลักเกณฑ์และรายละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
     
  "กมธ.ได้คุยกับกกกต. มองว่ารายละเอียดนโยบายของพรรคการเมืองที่เสนอ หากพบว่าเป็นนโยบายที่สุ่มเสี่ยงเกินไป ควรตักเตือนพรรคการเมือง เพราะไม่เช่นนั้นกฎหมายที่กำหนดไว้บังคับจะเป็นหมัน ดังนั้นการที่กมธ.นำมาพิจารณาก็เพื่อต้องการให้รัฐบาลระมัดระวัง ทำงานอย่างรอบคอบ และไม่ทำนโยบายที่ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะมีองค์กรที่คอยตรวจสอบอยู่" นายเสรี กล่าว
    
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาฯ ที่มี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาญัตติขอให้สภาฯ พิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ ทั้งนี้ถือว่าเป็นไปตามระเบียบวาระ ไม่มีการเลื่อนวาระอื่นเข้าแทรกญัตติดังกล่าวตามที่นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ว่าจะเลื่อนวาระอื่นพิจารณาแทน
   
  ทั้งนี้ นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย ฐานะเลขานุการ วิปรัฐบาล ยอมรับว่า วิปรัฐบาลกลับมติ เนื่องจากเป็นความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอมายังวิปรัฐบาล หลังจากที่นำมติวิปรัฐบาล ไปหารือในที่ประชุมของแต่ละพรรค เมื่อ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเป็นความเห็นร่วมกันที่จะให้การประชุมสภาฯ พิจารณาไปตามระเบียบวาระที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวไม่เป็นการเสียหน้าแต่อย่างใด เพราะตัวแทนของส.ส. ที่เป็นวิปรัฐบาลถือเป็นตัวแทนของพรรค ส่วนการปฏิบัตินั้นต้องผ่านการหารือของพรรคแต่ละพรรคที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง เมื่อถามว่า ผลการลงมติญัตติดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางใด นายศรัณย์ กล่าวว่า ต้องรอฟังการอภิปรายจากที่ประชุมสภาฯ อีกครั้ง
    
 อย่างไรก็ดี หลังจากที่สภาฯ พิจารณาวาระดังกล่าวไปเพียง 20 นาที วิปรัฐบาลได้แจ้งไปยังตัวแทนของพรรคที่เป็นวิปรัฐบาลว่าจะให้ลงมติไม่เห็นชอบ เนื่องจากเป็นการทับซ้อนของการทำงานรัฐบาล ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองและฝ่ายที่เกี่ยวข้องและอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น
    
 ด้าน นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯ ฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กล่าวถึงความคืบหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันหลักการสำคัญคือเราจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในครั้งแรกก็ได้มีการมอบหมายให้มีการเดินหน้าเกี่ยวกับเรื่องการทำประชามติเพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
   
  นายชนินทร์ กล่าวว่า พรรคยืนอยู่บนความเป็นจริง เพราะเรามีบทเรียนมาแล้วจากการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อนหน้านี้มาแล้วหลายครั้งแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ไขได้ จึงเชื่อมั่นว่าแนวทางการทำประชามติโดยพี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมนั้นจะเป็นหนทางที่รวดเร็วที่สุดและทำให้ไปถึงเป้าหมายในการสร้างประชาธิปไตยได้จริงมากที่สุด โดยคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ แล้ว 2 ชุด คือ 1.คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ และ 2. คณะอนุกรรมการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องและมีความคืบหน้าต่อเนื่อง และในวันที่ 25 ต.ค. 66 คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด จะมีการประชุมกัน โดยมีวาะสำคัญในการพิจารณากำหนดกรอบในการทำประชามติและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้ครอบคลุมที่สุด
    
 นายชนินทร์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติจะมีการประชุมในเวลา 10.00 น. เพื่อหารือกันเกี่ยวกับกรอบการจัดการจัดทำประชามติ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ศึกษาจำนวนครั้งในการจัดการออกเสียงประชามติ โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.ศึกษากรอบระยะเวลาดำเนินการของรัฐบาลทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มทำประชามติครั้งแรก ไปจนถึงการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง และ พ.ร.ป. เลือกตั้ง เพื่อให้เมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว สามารถบังคับใช้ได้จริงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
   
  สำหรับคณะอนุกรรมการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ จะมีการประชุมในเวลา 13.00 น. เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางสำคัญๆ ในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้มากที่สุด โดยจะมีการหารือแนวทางและสรุปกรอบการรับฟังเสียงพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ ว่าจะมีการพูดคุยกับกลุ่มไหนบ้างและอย่างไร โดยอาจมีการกำหนดเวลาว่าแต่ละกลุ่มจะไปพูดคุยในช่วงไหน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะให้จบภายในสิ้นปี 66 ซึ่งเบื้องต้น จำแนกกลุ่มต่างๆ ได้เป็น 3 กลุ่ม