‘กรวีร์’ เปิดข้อมูลถก ‘กมธ.การปกครอง’ ผงะเจอ 180 ผู้มีอิทธิพลซุกบัญชีสีแดง อีก “66จังหวัด” อยู่กลุ่มสีเหลือง จี้ ‘มหาดไทย’ วางแนวนโยบายให้ชัดเจน ปราบกลุ่ม ‘ผู้มีอิทธิพล’ เพิ่มช่องทางให้ปชช.แจ้งเบาะแส
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 ต.ค. 2566 ที่รัฐสภา นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครอง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกมธ. ในวันนี้ ว่า วันนี้ได้กมธ. ได้เชิญนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเนาะ พร้อมทั้งตัวแทนของอธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกัน และปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งตนต้องขอบคุณนายชาดาที่ให้เกียรติกับฝ่ายนิติบัญญัติในการเข้ามาให้ข้อมูล และชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ของทางกมธ.
โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ ดังนี้ 1.แนวนโยบายที่เราเห็นตรงกันว่า เราอยากเห็นสังคมที่เต็มไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ต้องการให้ผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจหน้าที่ รวมถึงสถานะทางสังคม มาทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ รังแกพี่น้องประชาชน ซึ่งก็ได้มีการสอบถามหลังจากรับแนวทางแล้ว และได้การตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา โดยมีนายชาดาเป็นประธาน ซึ่งตัวแทนของอธิบดีฯ ได้แจ้งว่า มีการส่งหนังสือให้แต่ละจังหวัด เพื่อคัดกรองผู้มีอิทธิพลทั่วทั้งประเทศตามที่กระทรวงมหาดไทยแล้ว
โดยได้รับคำชี้แจงว่า มี 10 จังหวัดที่เป็นสีเขียว ที่ไม่มีผู้อิทธิพล แต่ว่าระบุว่าประกอบไปด้วยจังหวัดอะไรบ้าง เนื่องจากเป็นความลับทางราชการ และมีจังหวัดที่เป็นสีเหลือง 66 จังหวัด 84 อำเภอ โดยมีบุคคลที่เข้าข่ายอยู่ในอยู่ในกลุ่มผู้มีอิทธิพล 805 รายชื่อ แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ 180 รายชื่อแรก เป็นผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในกลุ่มสีแดง ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลและมีพฤติการณ์ใช้อิทธิพลในพื้นที่ ส่วนอีก 625 คนเป็นผู้ที่เคยมีอิทธิพล แต่หยุดพฤติการณ์แล้ว และไม่ได้มีพฤติการณ์ในการใช้อำนาจกดขี่ ข่มเหง หรือรังแก่พี่น้องประชาชนแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะหยุดพฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว เราก็ต้องเฝ้าติดตามรายชื่อทั้งหมดอย่างใกล้ชิด
เพราะฉะนั้น เราจึงมีการสอบถามว่า คำจำกัดความของ “ผู้ที่มีอิทธิพล” ในความหมายของกระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างไร ซึ่งก็ได้รับการชี้แจงว่า เป็นบุคคลที่กระทำ หรือสั่งการให้มีการละเมิด โดยใช้อำนาจ เงิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน ฐานะทางสังคม หรือสิ่งอื่นใด ในการไปคุกคาม กดขี่ ข่มเหง หรือรังแก ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ ชื่อเสียง รวมถึงทรัพย์สิน ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยก็ชี้แจงว่า มีความผิดอยู่ทั้งหมด 16 มูลฐาน ที่มีความเกี่ยวข้อง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะกระทำความผิดตาม 16 มูลฐาน จะต้องเป็นผู้มีอิทธิพลทั้งหมด แต่ต้องมีสององค์ประกอบถึงจะเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล
2.กมธ. ได้ติดตามภายหลังจากที่ได้รายชื่อแล้วว่า จะมีการดำเนินการอย่างไร ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่า เนื่องจากทางรัฐมนตรีเพิ่งจะตั้งคณะทำงานมาได้ไม่นาน ยังอยู่ในขั้นตอนแรกคือการคัดกรอง และจะมีการรวบรวมรายชื่อให้อยู่ในฐานข้อมูล โดยการดำเนินการต่อไป คงจะเป็นนโยบายของฝ่ายบริหารว่า จะมีแนวทางนโยบายอย่างไร ซึ่งตนก็ได้สอบถามถึงแนวทางการจัดการกับผู้อิทธิพล ซึ่งทางฝ่ายปกครองได้บอกว่า ที่ผ่านมา ใช้วิธีการจับกุม รวมถึงได้มีการพูดคุยเพื่อให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งกมธ. ก็ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมกับทางกรมการปกครองว่า เมื่อได้รับนโยบายแล้ว ให้แจ้งกลับมาว่า จะทำอย่างไรกับทั้ง 180 รายชื่อ เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้สบายใจ
นอกจากนี้ กมธ. ยังมีเน้นย้ำถึงการทำรายชื่อ ที่จะต้องมีความเป็นธรรม เราไม่อยากเห็นการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองไปกลั่นแกล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลั่นแกล้งทางการเมืองและในส่วนการติดตามและประเมินผลภายหลังจากได้รายชื่อแล้ว คำถามสำคัญคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า การปราบปรามผู้มีอิทธิพลล้มเหลวหรือสำเร็จ หากมีการกำหนดการวัดผลและตัวชี้วัดที่ชัดเจน ก็จะมีคำตอบที่ชัดเจนให้กับพี่น้องประชาชนท้ายที่สุด เราได้ร้องขอให้มีการเปิดช่องทางสำหรับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ ให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแสว่า ที่ใดเป็นผู้ที่อาจเข้าข่ายกลุ่มผู้อิทธิพลบ้าง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และแจ้งให้หน่วยงานราชการรับทราบ โดยในเบื้องต้นกรมการปกครองชี้แจงว่า ให้ประชาชนแจ้งผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมไปก่อน
เมื่อถามว่าได้มีการหารือในกรณีของนายวีรชาติ รัศมี นายกเทศมนตรี ต.ตะลุกดู่ จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นลูกเขยของนายชาดา ในที่ประชุมหรือไม่ นายกรวีร์ กล่าวว่าได้มีการพูดคุยกันว่า ในกรณีนี้เข้าข่ายอยู่ในกลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือไม่ ซึ่งกรมการปกครองก็ได้ชี้แจงว่า ในการที่มีการจับกุมเมื่อ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็ต้องมีการไปต่อสู้ในชั้น และอาจจะมีความผิดจริง แต่เงื่อนไขที่สำคัญคือ การกระทำผิดกฎหมายเหล่านั้น เข้าข่ายในการใช้อำนาจหน้าที่คุกคามรังแกพี่น้องประชาชนหรือไม่ หากไม่มีการใช้อำนาจหน้าที่ ก็จะไม่อยู่ในฐานของผู้อิทธิพลตามความหมายของกระทรวงมหาดไทย
เมื่อถามว่า ได้มีการสอบถามนายชาดาหรือไม่ นายกรวีร์ กล่าวว่า ต้องชื่นชมสปริตของนายชาดา เพราะตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นมิติใหม่ทางการเมือง พอเวลาที่หลายคนตั้งคำถามว่า นายชาดามาปราบปรามผู้มีอิทธิพลแล้วจะทำได้จริงหรือ วันนี้ตนคิดว่าพี่น้องทั้งประเทศคงจะได้คำตอบ เพราะแม้กระทั่งคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนใกล้ชิดกับรัฐมนตรีโดยตรง ก็ไม่ได้รับการละเว้น หรือได้รับดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งก็ได้มีการกำชับกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานทั้งหมดว่า ไม่ต้องเกรงใจ สามารถดำเนินการ และปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฏหมายทั้งหมดได้