เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr มีเนื้อหาดังนี้...
แม้ว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคการเกษตร ภาคธุรกิจและภาคประชาชนจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะดำเนินการแก้ไข แต่ที่เน้นในการแถลงก็คือ การพักหนี้เกษตรกรเท่านั้น หนี้นอกระบบต้องถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มากปัญหาหนึ่งของประเทศ แต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้เน้นเรื่องนี้ในการแถลงต่อรัฐสภาแต่อย่างใด แต่จู่ๆนายกรัฐมนตรีก็ลุกขึ้นมาให้ข่าวและแถลงข่าวว่าจะดำเนินการแก้หนี้นอกระบบอย่างจริงจัง จึงทำให้น่าสงสัยว่าที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องหนี้นอกระบบในช่วงนี้เพื่อต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของสังคมจากเรื่อง digital wallet ที่ทำท่าจะไปไม่รอดหรือไม่
ฟังจากการแถลงของนายกรัฐมนตรีแล้ว เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ ไม่มีอะไรใหม่ที่แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีรัฐบาลใดสามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้สำเร็จ นอกจากจะไม่มีอะไรใหม่แล้ว ยังดูเหมือนว่า รัฐบาลยังไม่ได้วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา และเลือกวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด และวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบมาก่อน ไม่ต่างอะไรกับ digital wallet ที่เพิ่งมาคลำหาวิธีการดำเนินการเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว จนบัดนี้ก็ยังคงคลำอยู่
อย่าลืมที่ Albert Eistein เคยกล่าวไว้ว่า เราไม่อาจทำอะไรเหมือนเดิมทั้งหมด แต่ยังหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง ดังนั้นน่าจะอนุมานได้ว่า หากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการใหม่ๆเพื่อแก้หนี้นอกระบบ ผลลัพธ์ก็ยังจะเป็นเช่นเดิมกับรัฐบาลชุดก่อนๆ
การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เท่าที่ผ่านมาเป็นเหมือนกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เจรจาเป็นรายๆไป จบแล้วจบกัน ตราบใดที่ยังไม่มีแหล่งเงินกู้ถาวรที่เป็นทางเลือกให้กับผู้กู้รายย่อย เพื่อทำให้ผู้ปล่อยกู้นอกระบบหมดความหมาย ผู้ที่เดือดร้อนเรื่องเงินก็ไม่มีทางเลือกอื่น เนื่องจากโอกาสที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินหลัก เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก จึงต้องกลับไปหาผู้ปล่อยกู้นอกระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยมหาโหดเช่นเดิม
หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ได้แบบยั่งยืน ไม่ใช่เพียงต้องการคะแนนเสียง รัฐบาลต้องไม่เพียงให้ลูกหนี้มาลงทะเบียน แต่ต้องหาข้อมูล จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ปล่อยเงินกู้ เช่นเดียวกับที่ทำกับผู้มีอิทธิพล และหลังจากการเจรจาประนอมหนี้แล้ว หากยังมีผู้ปล่อยเงินกู้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีวิธีการทวงหนี้ที่ขัดต่อกฎหมาย ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนขึ้นโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อปล่อยเงินกู้ให้ผู้กู้รายย่อยที่มีรายได้น้อยโดยไม่ต้องมีหลักประกันเงินกู้และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆ โดยกำหนดวงเงินสูงสุดไว้ไม่ให้สูงจนเกินไป ที่เรียกว่า micro หรือ nano lending กองทุนดังกล่าวนี้อาจให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ดูแล หรือจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะก็ได้ และอาจเปิดให้บุคคลทั่วไปที่ต้องการช่วยผู้มีรายได้น้อยที่มีความเดือดร้อน สามารถใช้เงินตัวเอง ซึ่งเป็นเพียงหลักหมื่น ส่งเงินให้กู้ผ่านกองทุนนี้ได้ โดยดอกเบี้ยที่ได้รับไม่ต้องเสียภาษี
ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้วิธีใดก็ตามในการแก้หนี้นอกระบบ มีวิธีใหม่หรือใช้วิธีเดิมๆก็ตาม หากทำได้สำเร็จจริง ก็ขออนุโมทนาด้วย เพราะดังที่กล่าวแล้วว่า หนี้นอกระบบเป็นปัญหาใหญ่มากของประเทศปัญหาหนึ่ง ใครสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ ก็สมควรปรบมือให้ด้วยใจจริง