"ภูมิธรรม "ตอกย้ำสมาชิกเพื่อไทย" หนุน "แพทองธาร" นั่งหัวหน้าพรรค ชี้เร็วไปพูดดึง "ทักษิณ" เป็นที่ปรึกษา  "ประเสริฐ" ย้ำ "อุ๊งอิ๊ง" เหมาะนั่งหน.พรรค ลั่นถึงเวลาคนรุ่นใหม่นั่งเลขาฯ แทน ด้านอดิศรคาดรบ.จ่อชงกฎหมายนิรโทษกรรมประกบ ก้าวไกล สมัยหน้า วอนฝ่ายค้านลดโซเชียล ประณามฝ่ายเห็นต่าง ขณะที่ วันชัย เตรียมถามไทม์ไลน์แก้รธน. 30 ต.ค.นี้ ลั่นทำประชามติต้องไม่มีปมต้องขัดแย้ง

     ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ต.ค.66 นายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 27 ต.ค.66 ว่า สมาชิกพรรคทุกคนพร้อมสนับสนุน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพราะมีทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิและประสบการณ์ทางการเมือง รับรู้การเมืองมาตั้งแต่อายุยังน้อย มาจนถึงปัจจุบันลงหาเสียงทุกเวที และร่วมประชุมต่างๆ อีกทั้งหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ก็เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้รับทราบความต้องการของส.ส จึงเชื่อว่ามีความพร้อมพอสมควร  แต่อาจจะต้องคุยกับครอบครัว เพราะการทำหน้าที่หัวหน้าพรรคต้องใช้เวลาในการทำงานมาก
   
  นอกจากนี้ ในพรรคมีคนหลายรุ่นที่มีประสบการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่คนรุ่นใหม่ อายุ 20 กว่า รุ่นกลางที่เติบโตมากับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนและเพื่อไทย แต่พรรคจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เข้ามาขับเคลื่อนงานในพรรคต่อ        
   
  ส่วนหากน.ส.แพทองธารมาเป็นหัวหน้าพรรคจะเชิญนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาเป็นที่ปรึกษาหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปพูดเลย เพราะตอนนี้ก็อยู่ที่ในโรงพยาบาล อาการป่วยยังมีอยู่ แต่ว่าในพรรคเพื่อไทยเราไม่ได้ปฏิเสธใครเช่นกรณีของ นายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ก็ได้มีการเดินสายไปพบกับทุกฝ่ายและทุกส่วน รวมถึงได้มีการไปพบกับอดีตนายกฯ หลายคน ไม่ได้ปฏิเสธคนที่มีความรู้ความสามารถถ้าช่วยให้รัฐบาลและพรรคแข็งแรง พร้อมยินดีรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด ซึ่งตนมองว่ายังเร็วเกินไปที่เราจะพูดเรื่องดังกล่าว
    
 ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมวิสามัญพรรคเพื่อไทยวันที่ 27 ต.ค. ที่มีกระแสข่าวว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค และนายสรวงศ์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว พรรคเพื่อไทย  จะขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค ว่า ขอให้รอดูว่ากรรมการพรรคชุดใหม่จะเป็นใครบ้าง รอดูการลงคะแนนเสียงของสมาชิกพรรค ว่ากรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จะเป็นใครบ้าง 
    
 ผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงกระแสข่าวที่ออกมา นายประเสริฐ ตอบว่า เป็นกระแสข่าวสมาชิกหลายท่าน เห็นว่าน.ส.แพทองธารมีความเหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรค มีภาวะความเป็นผู้นำ และมีองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนพรรค จึงขอให้รอดูการโหวตของสมาชิกพรรค  เมื่อถามว่า ในฐานะรักษาการเลขาฯ หากได้รับการเสนอชื่อจะรับตำแหน่งหรือไม่ หรือจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนายสรวงศ์ตามกระแสข่าว นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้คงเป็นเวลาของคนรุ่นใหม่ในการเข้ามาทำงาน  ตนรับตำแหน่งเลขาฯ มา 3 ปี ตอนนี้คงเป็นช่วงเวลาที่พรรคเพื่อไทยจะสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน ตอนนี้น่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ตนแล้ว ส่วนทิศทางการเดินของพรรคเพื่อไทยหลังได้กรรมการบริการพรรคชุดใหม่ จะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งกระบวนการทำงาน การวางยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
  
   นายอดิศร เพียงเกษ ประธานวิปรัฐบาล  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ส.ว. ออกมาจี้รัฐบาลให้ออกกฎหมายเรื่องนิรโทษกรรมโดยมองว่าการสร้างความปรองดองมีความล่าช้า ว่า เคารพความเห็นของนายวันชัย แต่เรื่องนี้นิรโทษกรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทางรัฐบาลอาจจะมีความคิดที่จะเสนอกฎหมายประกบ สำหรับตนก็มีนิรโทษกรรมเหมือนกันตั้งแต่ยุคสมัยที่ต่อสู้ แต่ฝ่ายรัฐประหารเมื่อปฏิวัติเสร็จก็นิรโทษกรรมตัวเอง แต่ละพรรคก็มีความคิดเห็นตรงกันว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสม และคาดว่าสมัยหน้าคงจะมีการนำเรื่องนิรโทษกรรมเข้ามาพิจารณา ซึ่งในสมัยนี้คงไม่ทัน 
  
   เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลเหมือนจะรวมมาตรา 112 ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมด้วยมองว่าอย่างไร นายอดิศร กล่าวว่า เรามองตรงข้ามกันอยู่แล้วถึงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันไม่ได้ เพราะมาตรา 112 เราไม่แตะอยู่แล้วจึงเป็นการมองกันคนละมุม แต่ควรจะเป็นต่างคนต่างมอง ไม่ควรใช้โซเชียลเอามาประณามอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย "ขอความกรุณาฝ่ายค้าน ลดโซเชียลลงหน่อย พูดจาตามความเป็นจริงหน่อย 
  
   เมื่อถามว่า หากมีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมจะรวมถึงผู้กระทำความผิดมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ นายอดิศร กล่าวว่า รายละเอียดตนยังไม่ทราบ แต่ทุกคดีที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามกรอบของกฎหมายแล้วควรจะได้รับการนิรโทษกรรม  เมื่อถามว่า รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจใช่หรือไม่ เพราะมีการมองว่ารัฐบาลมาเสวยสุข นายอดิศร ตอบว่า "เสวยสุขอะไร เขาไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย ตั้งแต่เข้ามาทำงาน ขอถอนคำว่าเสวยสุข ซึ่งนายกฯและครม.ไม่ได้หยุดเลย ตั้งแต่ 2 เดือน ถ้าเปรียบเทียบกับบางรัฐบาล ก็ไปไกลมาก โปรดเห็นใจเรามาแก้ปัญหาที่มันหมักหมมมาโดยตลอด ผมคิดว่า นายเศรษฐาเป็นนายกฯที่ขยันที่สุด ผมถามท่านว่าได้พักผ่อนหรือไม่ ท่านตอบผมมาว่างีบอยู่ ขอความกรุณาไม่ได้เลยเสวยสุขเลย รัฐบาลจะไม่ฉวยโอกาสเสวยสุข ทุกนาทีจะทำงานขยันขันแข็ง กับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค"
   
  ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.  ฐานะประธานคณะทำงานติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการหารือถึงแนวทางการทำประชามติ กับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในวันที่ 30 ต.ค. นี้  ว่า มีประเด็นที่กมธ.อยากแลกเปลี่ยนพูดคุยคือกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจะใช้เวลานานเท่าใด จะแก้ประเด็นอะไร ส่วนที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะมีที่มาอย่างไร มาจากการเลือกตั้งมากน้อยหรือหลากหลายด้วยวิธีใด ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องการทราบรวมถึงไทม์ไลน์ในขั้นตอนต่างๆ ด้วย
  
   ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าการทำประชามติรอบนี้มีความขัดแย้งหรืออ่อนไหวหรือไม่ กรณีจะแก้ทั้งฉบับหรือยกเว้นบางมาตรา นายวันชัย กล่าวว่า การทำประชามติไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย เพราะประชามติเป็นคำถามเดียว ที่อาจถามว่าเห็นควรให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยส.ส.ร.หรือไม่ ดังนั้นจะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลายอีกทั้งคำถามประชามติ เป็นคำถามที่ทุกฝ่ายทุกกลุ่มเห็นด้วย ไม่ใช่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ เมื่อถามว่า มีข้อเสนอถึงรายละเอียดของคำถามประชามติหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ต้องเป็นคำถามไม่ซ้บซ้อน ไม่ยุ่งยาก ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือปัญหาที่ตอบไปได้หลายทาง ต้องอ่านและเข้าใจรู้เรื่อง ตัดสินใจได้
     
  สิ่งสำคัญมาจากพรรคร่วม กมธ.มาจากหลายกลุ่ม เชื่อว่า ทุกอย่างที่ออกมาอยู่บนพื้นฐานการตัดสินใจร่วมกันของพรรคร่วมและฝ่ายค้าน ประเด็นคำถามประชามติไม่มีเหตุผลขัดแย้ง แต่การแก้ไขรายละเอียดของรัฐธรรมนูญเป็นข้อขัดแย้ง ซึ่งต้องถกแถลงและเป็นข้อถกเถียงมากกว่าการทำประชามติ"นายวันชัย กล่าว
    
 เมื่อถามถึงข้อเสนอที่จะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราแทนยกทิ้งทั้งฉบับ นายวันชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีอะไร เมื่อมาตรา 272 หมดสภาพไป ไม่มีอะไรต้องแก้ นอกจากรู้สึกว่าเป็นรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือมาจากรัฐประหาร ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ตนมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปรับปรุงแก้ไขมาจากรรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 จนกลายเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 โดยรวมถือว่าใช้ได้และดีอยู่แล้ว
      
 "การปรับ การแก้อะไร ถือว่าเร็วและดีกว่าไปลงทุนทำประชามติ 3 ครั้งหรือรวมการเลือกส.ส.ร เป็น 4 ครั้ง ถือว่าสิ้นเปลืองงบ เปลืองเวลา สับสนมากไป ดังนั้นประเด็นมาตราอะไรที่พรรคการเมือง รัฐบาล ฝ่ายค้านอย่างแก้ ก็แค่นั้น"