"นิด้าโพล" เผยผลสำรวจ ปชช.ไม่เชื่อ "เพื่อไทย" กล้ายึด "มหาดไทย - เกษตร" ระบุชั้น 14 ส่งผลต่อการอยู่รอดรัฐบาล ‘ภูมิธรรม’ยกเลิกไปปารีส 15-19 มิ.ย. ห่วง 3 วันอันตราย บานปลายเกาะติดการเมืองร้อนปม “ทักษิณ” ชั้น14-ชายแดนไทย-กัมพูชา
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.68 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจเรื่อง "กล้าไหม ยึดมหาดไทยและเกษตร และกรณีปมชั้น 14" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายน 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกรณีปมชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.05 ที่ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการส่งผลต่อความอยู่รอดของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จากกรณีปมชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 29.62 ระบุว่า จะส่งผลมาก ต่อความอยู่รอดของรัฐบาลฯ รองลงมา ร้อยละ 29.31 ระบุว่า ค่อนข้างส่งผล ต่อความอยู่รอดของรัฐบาลฯ ร้อยละ 24.58 ระบุว่า ไม่ส่งผลใด ๆ เลย ต่อความอยู่รอดของรัฐบาลฯ ร้อยละ 15.73 ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผล ต่อความอยู่รอดของรัฐบาลฯ และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความสำคัญของผลการประชุมแพทยสภา ในวันที่ 12 มิถุนายน 2568 จากกรณีการลงโทษแพทย์ 3 คน ปมชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจต่อสถานการณ์ทางการเมืองไทยหลังจากนี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.27 ระบุว่า ค่อนข้างมีความสำคัญ รองลงมา ร้อยละ 26.72 ระบุว่า มีความสำคัญมาก ร้อยละ 21.37 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความสำคัญร้อยละ 16.11 ระบุว่า ไม่มีความสำคัญเลย และร้อยละ 1.53 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความเชื่อมั่นต่อการทำงานของแพทยสภาในการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.40 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 30.84 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 15.95 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 14.20 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความเชื่อของประชาชนต่อนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ว่าจะกล้ายึดกระทรวงมหาดไทยมาจากพรรคภูมิใจไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.12 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 32.06 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 18.24 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 13.82 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 1.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามความเชื่อของประชาชนต่อนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ว่าจะกล้ายึดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาจากพรรคกล้าธรรม พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.73 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 29.69 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 20.07 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 11.91 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 2.60 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยกเลิกภารกิจเดินทางไปปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อประชุมทางทหาร และชมแอร์โชว์ ระหว่างวันที่ 15-19 มิ.ย.นี้ เนื่องจากเป็นห่วงสถานการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่12 -13-14 มิ.ย.นี้
สำหรับวันที่ 12 มิ.ย.68 แพทยสภาประชุมว่าจะเห็นชอบมติเดิม คือ ลงโทษแพทย์ 3 ราย ที่เกี่ยวข้องกับการรักษา นายทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกฯ กรณีรักษาตัวชั้น 14 หรือจะเห็นด้วยกับการยับยั้งมติแพทยสภาของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ ส่วนวันที่ 13 มิ.ย.68 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองนัดไต่สวน ส่งตัวนายทักษิณ รักษาตัวชั้น 14 ถูกต้องหรือไม่ ขณะที่วันที่ 14 มิ.ย.68 การประชุม คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC)ไทย-กัมพูชา ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งยัง คาดเดาการประชุมไม่ได้ ว่าจะเป็นผลบวกหรือลบ
ส่วน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อตรวจสอบนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 17 หรือไม่ ทั้งนี้ขอให้ ป.ป.ช. เรียกเอกสารต่าง ๆ จากโรงพยาบาลนครินทร์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช และเอกสารต่าง ๆ จาก สภ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช และเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาประกอบการตรวจสอบด้วย
นายเรืองไกร กล่าวว่า ในคำร้องได้สรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นข้อ ๆ ดังนี้ 1.เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2568 เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา ลงข่าวหัวข้อ ผู้เสียหายแจ้งความ 2 พี่น้องเดชเดโช ทำร้ายร่างกาย ก่อนถอนเรื่อง อ้างเข้าใจผิด รายละเอียดปรากฏตามสำเนาข่าวที่ส่งมาด้วยแล้ว 2.กรณีตามข่าวข้างต้น พอสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา นายนเรศ วงศ์เศรษฐกุล อายุ 40 ปี ได้แจ้งความว่าถูกนายพิชัยเดช เดชเดโช สจ.เขตร่อนพิบูลย์ และนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมพวกประมาณ 10 คนร่วมกันทำร้ายร่างกายด้วยการชกต่อยและใช้ของแข็งตีถูกที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บ โดยได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนครินทร์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เหตุเกิดในงานบวช บ้านควนพัง หมู่ 3 ต.ควนพัง อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2568 เวลาประมาณ 23.30 น.
โดยนายนเรศ ได้แจ้งความเอาผิด สส.และ สจ.จากพรรคประชาธิปัตย์ที่ สภ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2568 จนปรากฏเป็นเอกสารเลขที่ ตช.0023(นศ).(26)/2046 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2568 ลงนามโดย พ.ต.อ.ชัยรัตน์ บัวชม ผู้กำกับ สภ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช รายงานถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ต่อมาผู้กำกับ สภ.ร่อนพิบูลย์มีคำสั่งแต่งตั้งชุดสืบสวนสอบสวน สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนและเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ ต.ควนคัง ซึ่งเป็นตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ ตรวจสอบกล้องวงจรปิดก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลผู้ต้องหาร่วมในคดีดังกล่าว ตามที่ผู้เสียหายกล่าวอ้าง หลังจากนั้นในวันเดียวกัน (24 พ.ค. 2568) เวลา 17.11 น. ผู้เสียหายมีความประสงค์ขอถอนคำร้องทุกข์อ้างว่าเป็นการเข้าใจผิด ไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับผู้ใดต่อไป อีกทั้งไม่สะดวกให้ปากคำ เนื่องจากยังมีอาการเจ็บปวดบาดแผล พนักงานสอบสวนได้สอบสวนปากคำนายไชยเชษฐ์ พลสวัสดิ์ นายก อบต.ควนพัง ซึ่งเป็นผู้จัดการงานบวชในวันเกิดเหตุไว้ และพยานอื่นรวม 4 ปาก
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า 3.เนื่องจากข้อเท็จจริงจากข่าวดังกล่าว มีการกล่าวอ้างถึง นายชัยชนะ สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ รวมอยู่ด้วย กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบพฤติการณ์ของนายชัยชนะ ดังที่ปรากฏเป็นข่าว ทั้งนี้ ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) ในส่วนที่อาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมฯ ข้อ 17 หรือไม่ 4.มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 17 ที่ ระบุว่า ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง