นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มีแนวคิดออกพันธบัตร(บอนด์) สกุลเงินต่างประเทศ โดยได้สั่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ไปศึกษารายละเอียด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติ และเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงให้กับภาคเอกชนไประดมทุนในตลาดโลกมากขึ้น
"นานแล้วที่ไม่ได้ออกไปต่างประเทศ จึงเห็นว่าไทยต้องกลับสร้างจุดยื่นในต่างประเทศ ท่านนายกฯได้เดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน มีความเป็นไปได้ในระยะเวลาข้างหน้าเราจะออกไปทดลองต่างประเทศ เชื่อว่าถ้าปล่อยไปสักล๊อตก็ขายได้ ขายหมด เพราะมีนักลงทุนแสดงความสนใจมาแล้ว แต่ยังไม่ได้คุยว่าจะเป็นสกุลต่างประเทศใด แต่อย่างไรก็ตามต้องดูจังหวะเวลา ดูความเหมาะ ดูกรอบ และความต่างของอัตราดอกเบี้ย โดยจะทยอยออกตามโปรเจ็คต์ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประเทศ"
ส่วนการออกบอนด์ของรัฐบาล จะส่งผลกระทบต้นทุนการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนหรือไม่ ต้องยอมรับว่า โดยสภาพประฎิเสธไม่ได้ว่า ต้นทุนต้องขยับตามตลาด ไม่มีใครตรึงต้นทุนอยู่ได้ แต่เราอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่ได้แพงกว่า หรือมีต้นทุนสูงกว่าปกติ
สำหรับแนวคิดการออกบอนด์ดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับสภาพคล่องของไทยมีปัญหา ขณะที่การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท รัฐบาลยืนยันว่ายังคงเดินหน้าแน่นอน โดยได้รับความสนใจตลาดโลกสูงมาก และไทยจะประเทศแรกที่จะทำ ตอนนี้พบว่า มีดีมานสูง สำคัญที่สุดประเทศไทยต้องหาโครงการที่ยั่งยืนรองรับ
นายจุลพันธ์ กล่าวยอมรับว่าผลจากขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มาอยู่ที่ 5.5%ต่อปี รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.25% เป็น 2.5% ต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลในขณะนี้เพิ่มขึ้นกว่า 3% ต้นๆ ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามหนี้ของไทยเป็นหนี้ในประเทศเป็นหลัก