โอกาสไทย 2568 ไทยแลนด์เนื้อหอม..นักลงทุนแห่ลงทุนเพิ่ม! เล็งขอตั้งฐานการผลิตขนาดใหญ่ในอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล คาดสร้างเม็ดเงินมากกว่า 8 แสนล้านบาท
วันที่ 12 มกราคม 2568 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ารัฐบาลได้รับรายงานจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ว่าแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทยในปี 2568 นี้ กำลังมีทิศทางที่สดใส โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่คาดการณ์ว่าจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนมากกว่า 800,000 ล้านบาท
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า วันนี้ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงเดือนสิงหาคมถึงสิ้นปี 2567 เป็นจำนวนมาก เช่น PCB คลาวด์ Data Center อีกทั้งยังสนใจลงทุนที่ประเทศไทย ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากและมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 5G เป็น World-class Data Center และ Cloud Services มีระบบสาธารณูปโภคและโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เป็นที่ตั้งฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทระดับโลก และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีความพร้อมในด้านการค้ากับต่างประเทศ จากการยกระดับการค้าเสรี และกรอบความร่วมมือต่าง ๆ และมีสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนที่น่าสนใจ เช่น ภาษีและมาตรการทางด้านการเงิน (Financial) ที่เอื้อประโยชน์สำหรับนักลงทุน และครอบคลุมในทุกกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมารัฐบาลยังได้ส่งเสริมการผลิตบุคลากรในสาขา STEM เพิ่ม ซึ่งคาดการณ์ในปี 2569 จะมีบุคลากรเพิ่มในสาขาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์กว่า 3 แสนคน
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (Green Transition) และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยบีโอไอเน้นส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา มีการขอรับการส่งเสริมเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 1.8 แสนล้านบาท และเพียงแค่ 9 เดือนแรกของปี 2567 มีเงินลงทุนรวมกันมากกว่า 85,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2565 ถึง 3.7 เท่า
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นด้านความปลอดภัย (Safety&Resiliency) มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติต่ำ และปลอดความขัดแย้ง มีระบบสาธารณสุขและการศึกษาที่มีมาตรฐาน โดยประเทศไทยมีความเหมาะสมในการเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และปัจจุบันติด Top 5 ของโลก โดยปัจจัยต่าง ๆ จะส่งผลให้แนวโน้มการลงทุนในปี 2568 มีทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินการลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท โดยตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วน 2.อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) 3.อุตสาหกรรมดิจิทัล Data Center และ Cloud Region 4.อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต และ 5.อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน
นายจิรายุ กล่าวว่าต่อไปว่า ”จากข้อมูลทิศทางการลงทุนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมและโอกาสของประเทศไทยสำหรับการลงทุนเพิ่มของนักธุรกิจที่ลงทุนอยู่เดิม และการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยรัฐบาลได้มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายเพิ่มการลงทุนในประเทศ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน เพื่อสร้างประโยชน์และโอกาสให้กับประชาชนไทยควบคู่กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีกด้วย“