นายก อบจ.ตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หัวข้อ “แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรตามระเบียบวิธีการแห่งพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร”
วันที่ 23 ตุลาคม 2566 ณ ศาลาการเปรียญวัดควนขัน ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดกิจกรรมบรรยายในหัวข้อ“แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรตามระเบียบวิธีการแห่งพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรทั้ง 10 อำเภอของจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง โดยมีนายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิธ นายก อบจ.ตรัง เป็นประธานในพิธีเปิด ร่วมด้วยนายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รักษาการรองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายดรณ์ พุมมาลี รักษาการรองประธานคณะกรรมการจัดการหนี้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายกเทศมนตรีนครตรัง และคณะกรรมการประสานงานกลุ่มองค์กรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เข้าร่วม
นายก อบจ.ตรัง กล่าวว่า สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ทำการซื้อหนี้แทนเกษตรกร อันเป็นการรักษาที่ดินไว้ให้เกษตรกรเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นหนี้จากสถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินธนาคารของรัฐหรือแม้กระทั่งสหกรณ์การเกษตรกรจำกัดต่าง ๆ ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร อย่างไรก็ตามเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจระเบียบวิธีการตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ดังนั้นการบรรยายหัวข้อระเบียบวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ตามพ.ร.บ.กองทุน ฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในวันนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ทำให้เกษตรกรได้เข้าใจและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้ในอนาคต
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในจังหวัดตรัง ได้รับการจัดการหนี้แล้ว 290 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 120 ล้านบาท
สำหรับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 เพื่อให้เกิดองค์กรในการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างต่อเนื่องและเป็นอิสระ โดยการประสานความร่วมมือระหว่างข้าราชการ ในระดับกําหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติการ นักวิชาการ และเกษตรกรเป็นผู้กําหนดนโยบายในการบริหารกองทุน ฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ขาดปัจจัยในการประกอบอาชีพรวมตัวกันเป็นองค์กรเกษตรกร เพื่อทําแผนและโครงการในการขอรับการสนับสนุนจากกองทุน ซึ่งจะมีการจัดระบบการติดตามและ ประเมินผลการดําเนินการเพื่อให้การฟื้นฟูและพัฒนาสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรสัมฤทธิ์ผล ตามความมุ่งหมายของการจัดให้มีกองทุน โดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีหน้าที่สำคัญคือการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรและการจัดการหนี้ของเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร