ชี้คุณสมบัติผู้นำครบถ้วน เศรษฐาการันตี อุ๊งอิ๊งคุมพท. -ปชป.ซัดกลับเด็จพี่ -อย่าจุ้นข้ามพรรค เศรษฐาคุยนั่งนายกฯ เดือนกว่าเดินทางพบผู้นำนานาประเทศพร้อมดึงนักธุรกิจต่างชาติมาลงทุนในไทย ชี้แพทองธารมีคุณสมบัติพร้อมเป็นผู้นำเพื่อไทย ด้านปชป.'ซัดกลับเด็จพี่ ไร้วุฒิภาวะ อย่าใส่เกือกเรื่องในพรรค ขณะที่"อดิศร" ปล่อย "ก้าวไกล" เดินหน้าถกญัตติทำประชามติแก้รธน.
เมื่อวันที่ 22 ต.ค.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ผ่าน "เนชั่นทันข่าวเช้า" เปิดใจ 2 เดือนการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ว่า กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา เราเป็นผู้นำใหม่ตามประเพณีเราก็ต้องเดินทางไปพบผู้นำเพื่อนบ้านถ้าเกิดมีจังหวะ เช่นการประชุมใหญ่สหประชาชาติกลางเดือนก.ย.ก็ได้ไปพบปะผู้นำมาหลายคน แต่สิ่งที่พยายามเพิ่มเข้าไปคือนักธุรกิจ เพื่อพูดคุยในเรื่องการเข้ามาลงทุนในไทย จากนี้ก็จะเดินทางเยือนกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน จากนั้นจะเป็นในส่วนของประเทศอาเซียนประเทศอื่นทั้งมาเลเซีย บรูไน รวมถึงฮ่องกงเพื่อพูดคุยกับนักลงทุน ซึ่งมีขั้นตอนชัดเจนว่ากระทรวงการต่างประเทศรวมถึงบีโอไอจะมีขั้นตอนอะไรต่อไป นายเศรษฐา กล่าวว่า จากการพูดคุยกับนายหารือทวิภาคีกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการพูดคุยในเรื่องการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทั่วไปในเขตนี้ ไปถึงยุโรปและแอฟริกา เราจึงจำเป็นต้องไปพูดคุยและเสนอโครงการอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงจากลาวมาถึงไทย ขณะเดียวกันได้แจ้งความคืบหน้าไทยหลังจากที่ขณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติทำการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งในอดีตจากที่เราเคยเป็นทางผ่าน แต่หากมีการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ เราจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะเป็นตัวดึงนักลงทุนต่างประเทศที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยมากขึ้นซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีแต่ต้องมีการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต่างชาติมีความสนใจมากขึ้น
นายกฯ กล่าวอีกว่า ขณะที่ผู้นำอาเซียนตรงก็ได้มีการพูดคุยกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะกรณีการสู้รบของอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส แต่โดยสรุปที่ไปทั้งหมดเพราะเราเป็นผู้นำใหม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการยกระดับการลงทุนและการจ้างงาน รวมถึงการสร้างการผลิตทำให้ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างน้อย5%ในอีก10ปีข้างหน้า
เมื่อถามว่า หลังจากนี้นายกฯจะเดินทางไปประเทศไหนต่อไป นานเศรษฐา กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 30 ต.ค.ตนจะเดินทางเยือนประเทศลาว จากนั้นวันที่ 12 พ.ย.จะไปประเทศซานฟรานซิสโกซึ่งเป็นมิติใหม่ ในการที่จะไปเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุน เมื่อถามว่า ตอนนี้มีการให้ฉายานายกฯ ว่าเป็น "เซลล์แมน" ไปแล้ว ความรู้สึกการเยือนต่างประเทศตอนนั้นเป็นอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ตามนิสัยส่วนตัวเป็นคนให้เกียรติคนอยู่แล้วโดยให้ความสัมพันธ์ทุกประเทศเท่ากันเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกต.และบีโอไอจะต้องเตรียมข้อมูลมาเป็นอย่างดี แต่หลักการสำคัญการพูดคุยด้วยความเคารพทั้ง2ฝ่ายจะทำให้การเจรจาเป็นไปได้ง่าย
นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังให้สัมภาษณ์ถึงกระแสสนับสนุนของสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่อยากให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ว่า ตนเป็นเพียงหนึ่งในสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้เป็นที่ปรึกษาของน.ส.แพทองธารมาตั้งแต่ก่อน และระหว่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งได้เห็นถึงศักยภาพและความตั้งใจจริงของน.ส.แพทองธารอยู่แล้วว่าท่านมีประสบการณ์ด้านการเมือง มีความสัมพันธ์ที่ดี รวมถึงสามารถโน้มน้าวจิตใจคนได้ มีความเป็นผู้นำสูง เพราะฉะนั้นตนเชื่อว่าน.ส.แพทองธารมีความเหมาะสมเต็มที่ แต่คงต้องติดตามว่าในวันที่ 27 ต.ค. ในการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคเพื่อไทย จะมีการเสนอชื่อใครบ้าง ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามกลไกระเบียบของพรรคด้วย
ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า เชื่อว่าทุกคนเริ่มเห็นแล้วว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ชื่นชอบคำติติงที่เป็นประโยชน์ รับไม่ได้กับเหตุผลที่เกิดมาจากฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกันกับรัฐบาล ทั้งๆ ที่หลายเรื่อง หลายฝ่ายได้ท้วงติงอย่างมีหลักมีเกณฑ์เช่นเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่จะมีการแจกเงิน 10,000 บาท และในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาให้ความเห็นด้วยเหตุด้วยผล เริ่มตั้งแต่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และตนที่เป็นโฆษกพรรค รวมถึงฝ่ายนโยบายของพรรค อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่ามีองคาพยพในพรรคเพื่อไทยออกมาแสดงความเห็นตอบกลับอย่างไร้วุฒิภาวะเช่น นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ไปไกลถึงขนาดกล่าวว่ากลับไปปัดกวาดบ้านตัวเองก่อนจะมาสั่งสอนคนอื่น กลับไปหาหัวหน้าพรรคให้ได้ก่อน เหมือนสมองกับปัญญาไม่สอดคล้องกันจึงทำให้คิดไม่ออกว่ามันคนละเรื่อง เพราะไม่สามารถชี้แจงเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตได้ก็จะยกเรื่องนี้มาตลอด
นายราเมศ กล่าวว่า ทำให้ตนต้องย้ำเสมอว่าการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นเรื่องประชาธิปไตยภายในพรรค ที่มีการแข่งขันกันตามปกติ ไม่ใช่พรรคครอบครัว ที่จะมีใครมาสั่งให้ซ้ายหันขวาหัน ชี้ว่าจะเอาใครมาเป็นหัวหน้าพรรคได้ สถาบันทางการเมืองที่แท้จริงไม่มี หัวหน้าพรรคหุ่นเชิด ไม่มีหัวหน้าพรรคติดคุกหนีคดี พรรคประชาธิปัตย์เลือกหัวหน้าพรรคช้าไปบ้างก็เพราะเราคัดสรร เราไม่ได้เลือกหัวหน้าโจรที่ไม่ต้องพิถีพิถันเอาใครก็ได้
"มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ฝากบอกนายพร้อมพงศ์ว่าอย่าเสือก แต่ผมบอกไปว่าจะไม่ใช้คำพูดเช่นนั้นและอย่าไปให้ราคา ดังนั้นผมขอเพียงจะบอกว่าอย่ามายุ่งเกี่ยวกับพรรคอื่นเลย เราต่างทำหน้าที่ และขณะนี้ตามกฎหมายคณะกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันก็ยังมีอำนาจในการทำหน้าที่ได้ทุกประการ"
นายราเมศ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่กระบวนการตรวจสอบได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่รัฐบาลเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะฝ่ายค้านก็จะทำหน้าที่ด้วยเหตุด้วยผล ห้วงเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจยังไม่ได้มีการคุยกัน ในส่วนของนายกฯ ขณะนี้มีหลายเรื่องที่น่าติดตาม เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมนายกฯ ก็จะทราบ และต้องชี้แจงด้วยเหตุด้วยผลตามกลไกในระบบประชาธิปไตย
นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ(วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่การประชุมสภาฯ สัปดาห์หน้าจะมีการวาระพิจารณาญัตติของพรรคก้าวไกลที่เสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะ ให้สภาฯเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรี ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า เป็นญัตติที่เสนอเข้าสู่สภาฯ ไว้ตั้งแต่แรก และเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ส่วนทิศทางของวิปรัฐบาลจะหารือกันในวันที่ 24 ต.ค. เวลา 09.00 น. รายละเอียดขอฟังจากพรรคก้าวไกลว่าจะเป็นอย่างไร เพราะตามขั้นตอนเมื่อผ่านสภาฯ แล้วต้องส่งให้ วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบด้วย ก่อนจะส่งไปยัง ครม. ให้พิจารณา โดยส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องที่รัฐสภากดดันการทำงานของรัฐบาล ที่ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพราะขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการแล้ว อีกทั้งในกระบวนการของสภาฯ จะใช้เวลานาน เพราะต้องผ่านวุฒิสภาด้วย หากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยเรื่องจะไม่ถูกส่งไปรัฐบาล
เมื่อถามว่า ในญัตติดังกล่าวจะโหวตสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลหรือไม่ นายอดิศร กล่าวว่า ญัตติดังกล่าวพรรคก้าวไกลต้องส่งให้ครม.พิจารณาดำเนินการตั้งแต่ต้น แต่ขณะนี้ครม.ทำแล้ว ดังนั้นจะซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ต้องพิจารณาตามความเป็นจริง แต่การเสนอญัตติดังกล่าวถือเป็นสิทธิและต้องพิจารณาตามเหตุและผล
เมื่อถามว่า ความเห็นส่วนตัวมองประเด็นดังกล่าวอย่างไร นายอดิศร กล่าวว่า เรื่องประชามติแก้รัฐธรรมนูญต้องเดินหน้า แต่ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินไปตามงานที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งรัฐบาลคิดเหมือนกันแต่การเดินทางไม่เหมือนกัน ส่วนตัวสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล รัฐบาลเริ่มต้นทำแล้ว เพื่อนำไปสู่การทำประชามติ แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อแก้รัฐธรรมนูญให้ได้
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลต้องการคำถามประชามติที่ไม่มีเงื่อนไข ไม่ห้ามแก้รัฐธรรมนูญทุกมาตรา จะพิจารณาอย่างไร นายอดิศร ตอบว่า คำถามนั้นต้องคุยกัน ไม่มีอะไรที่ขัดกัน ส่วนที่ก้าวไกลต้องการให้แก้ทุกมาตราได้รวมถึงหมวดหนึ่ง หมวดสองนั้นต้องคุยในสภาฯ ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลไม่สำเร็จมาแล้ว ดังนั้นหากทำต้องแก้ให้เป็น"