สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ...*...
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ท้วงติงจากนักวิชาการ อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ นักเศรษฐศาสตร์ระดับแถวหน้าของประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าใช้งบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านบาทแจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ทุกคนที่มีอายุเกิน 16 ปีในรูปของดิจิทัลวอลเล็ต ที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำงบประมาณมาจากไหน ...*...
ความกังวลต่อนโยบายแจกเงินดังกล่าว ไม่ได้มีแค่เฉพาะในกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังคลุมไปถึงประชาชนจำนวนไม่น้อยด้วยเช่นกัน เห็นได้จากผลสำรวจความเห็นโดยนิด้าโพลเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ...*...
ขณะที่ตัวนายกรัฐมนตรี แม้จะยังเสียงแข็งไม่มีการทบทวนนโยบายนี้ แต่ก็ออกอาการให้เห็นถึงความหวั่นไหว จากการพูดกับชาวบ้านที่จังหวัดพิษณุโลกในบางช่วงบางตอนระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยว่า “อย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้ ถ้าชอบก็ขอให้พูดบ้าง ให้เปล่งเสียงออกมาบ้าง” ...*...
จริงๆ แล้ว กลุ่มนักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาเคลื่อนไหวเข้าชื่อคัดค้านโครงการนี้ ได้อธิบายถึงเหตุผลไว้ครบถ้วน 7 ประการ ไล่ตั้งแต่ 1.เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปี 66 และขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปี 67 จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ 2.เงินงบประมาณของรัฐมีจำกัด การใช้เงินจำนวน 560,000 ล้านบาท อาจทำให้รัฐเสียโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 3. การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (จีดีพี)ขยายตัว โดยรัฐแจกเงิน 560,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบ เป็นการคาดหวังเกิน เพราะจากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลังที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลัง สำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ 4.ดอกเบี้ยขาขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก รัฐต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องชำระคืนหรือกู้ใหม่ จึงมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี โดยยังไม่นับเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาท 5.โลกเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด และภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างจำเป็นต้องการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมาก ต้องลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง เพื่อสร้าง “พื้นที่ว่างทางการคลัง” เอาไว้รองรับวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต 6. การแจกเงินคนละ 1 หมื่นบาทให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่ไม่เป็นธรรม เพราะเศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี จะได้รับเงินช่วยเหลือนี้ด้วยทั้งที่ไม่จำเป็น และ 7.ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น รัฐควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด ...*...
ฉะนั้น นายเศรษฐาในฐานะนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง จึงควรยกเหตุผลมาหักล้างที่มาของข้อคัดค้านจากกลุ่มนักวิชาการ มากกว่ามุ่งเรียกเสียงเชียร์จากคนที่อยากได้รับการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท อย่าทำให้กลายเป็นเรื่องการเมืองโดยมีประเทศชาติเป็นเดิมพัน ...*...
เพราะหากนโยบายนี้ไม่ “ปัง” อย่างที่มุ่งหวัง แล้วยัง “พัง” ก่อให้เกิดความสูญเสียยับเยิน อาจมีใครต้องชดใช้กรรมด้วยการติดคุกซ้ำรอย “นโยบายจำนำข้าว” ในสมัยรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ...*...
ที่มา:เจ้าพระยา (19/10/66)