วันที่ 20 ต.ค. 2566 เวลา 18.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่รถตู้ ยี่ห้อโตโยต้า สีเทา ทะเบียน  ฮย-3140 กรุงเทพฯ ของบริษัท สยาม ฟิวเนอรัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับทำหน้าที่ รับส่งศพคนไทยในอิสราเอลกลับบ้านเกิด ตามการประสานของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงาน นำส่งศพของ นายพงษ์เทพ  หรือน้องพงษ์ อายุ 26 ปี แรงงานไทยในอิสราเอล ที่ถูกกลุ่มกบฎฮามาส ยิงเสียชีวิต นำศพส่งถึงบ้านเกิด ที่บ้าน ม.6 บ้านโคกสูง ต.โนนธาตุ อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น 

โดยทันทีที่รถตู้จอดริมถนนหน้าบ้าน  นายลำเพย อายุ 62 ปี บิดาพร้อมญาติพี่น้องได้ยืนยันตัวบุคคลและทำการรับโลงศพที่บรรจุร่างลูกชายเข้าในบ้าน ท่ามกลางเสียงร้องไห้ของนายลำเพยซึ่งถือธูป อยู่ในมือ น้ำตาไหลพราก กลั้นเสียงสะอื้นเอาไว้ตลอดเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่จาก รพ.จิตเวชฯ คอยดูแลตลอดเวลา ก่อนที่ญาติพี่น้องได้นำโลงศพที่บรรจุร่างน้องพงษ์เข้ามาในบ้านและทำการแกะโลงออก เพื่อนำร่างเปลี่ยนใส่โลงไม้ที่มีผู้บริจาคให้ ก่อนนำร่างน้องพงษ์บรรจุใส่ในโลงเย็นอีกชั้น

ซึ่งบรรยากาศการรับศพน้องพงษ์นั้น มีนายประจักษ์ ไชยกิจ นายอำเภอหนองสองห้อง พร้อมด้วย นางอรวรรณ หินตะ แรงงานจังหวัดขอนแก่นและ นางอัจฉรา เจริญผล นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนจัดหางานจังหวัดขอนแก่น เดินทางมาร่วมรับศพน้องพงษ์กับนายลำเพยด้วย



ทั้งนี้ภายหลังจากที่บรรจุร่างคนตายใส่ในโลงศพแล้วและก่อนนำโลงเข้าในโลงเย็น ญาติพี่น้องขอเปิดโลงดูหน้าคนตาย เพื่อตรวจสอบว่า ในลูกหลานของตัวเองหรือไม่ โดยที่นายลำเพยบิดา ปฏิเสธไม่ขอดู เพราะยังทำใจไม่ได้

ขณะที่นางอรวรรณ หินตะ แรงงานจังหวัดขอนแก่น  กล่าวว่า กรณี สิทธิประโยชน์ของแรงงานที่เสียชีวิตทั้ง 3 รายนั้น โดยขณะนี้ นายพงษ์เทพ อายุ 26 ปี ถูกนำศพกลับบ้านมาแล้ว ก็จะมีการช่วยเหลือ จากเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ของกรมการจัดหางานกรณีเสียชีวิต ช่วยเหลือ 40,000 บาท  และจากการตรวจสอบการส่งเงินในระบบประกันสังคมของนายพงษ์เทพ เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันสังคม 14,712.18 บาท ยังไม่รวมดอกผล



อีกทั้งยังมีค่าตอบแทนจาก National insurance Institute ตามข้อกำหนดที่จะจ่ายให้เฉพาะภรรยาและบุตรเท่านั้น กรณีนายพงษ์เทพ  ไม่มีภรรยาและบุตร อยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ์ของทายาทคนอื่นๆ เพิ่มเติมจากฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ซึ่งเงินประกันอื่นๆซึ่งนายจ้างอาจจะทำให้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบนอกจากนี้ กรณีแรงงานไทยที่กลับจากประเทศอิสราเอล ต้องการทำงานในประเทศไทย จัดหางานและพัฒนามือแรงงานจะช่วยดูแลส่งเสริมอาชีพให้ ส่วนแรงงานคนใด ต้องการกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลอีก ก็ต้องตรวจสอบก่อนว่าทางอิสราเอล ต้องการแรงงานคนไทยอีกหรือไม่