วันที่ 16 ต.ค.2566 นายเชาว์ มีขวด ทนายความ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊คแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับโทษจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร เรื่อง จดหมายเปิดผนึกถึง ปปช. และ อสส. ในฐานะโจทก์คดีทักษิณ  ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯไต่สวนพฤติการณ์นายทักษิณ ว่า ถูกจำคุก ต้องตามบทบัญญัติกฎหมายหรือไม่  มีเนื้อหาระบุว่า การกลับมารับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของนายทักษิณ ชินวัตร ที่อาศัยช่วงจังหวะที่พรรคเพื่อไทยกำลังเข้าสู่อำนาจ ทำท่าจะบานปลายขึ้นทุกวัน เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ถูกจำคุกจริงตามคำพิพากษาแม้แต่วินาทีเดียว การเข้าไปในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ก็แค่พิธีกรรมเท่านั้นเพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับไล่ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีมาจนถึงผู้บังคับบัญชาเรือนจำ ต่างงอมืองอหัวให้นายทักษิณ  อยู่ในเรือนจำไม่ถึง 10 ชั่วโมงนายทักษิณก็แกล้งป่วย ถูกนำออกมาพักอยู่ที่ห้องวีไอพีโรงพยาบาลตำรวจทันทีทันใด ทั้งที่ขณะเดินทางมาถึงที่สนามบินดอนเมืองในเช้าวันเดียวกันไม่มีอาการของคนป่วยให้เห็นแม่แต่น้อย เช่นเดียวกันขณะอยู่อยู่ต่างประเทศนายทักษิณโชว์ความฟิตออกสื่ออยู่ตลอดเวลาว่าร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดีทุกประการ และใข้ตรรกะง่ายๆถ้าป่วยจริงนายทักษิณคงไม่โง่เดินทางมารับโทษจำคุกในขณะที่ตนเองป่วยหนักอยู่หรอก แต่ทั้งหมดคือแผนการที่ถูกวางไว้ก่อนล่วงหน้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยอาศัยช่องว่างกฎระเบียบและกลไกอำนาจรัฐ  ล่าสุดนายทักษิณได้สร้างภาพนอนรถเข็นออกสื่อตบตาชาวบ้านให้เห็นว่าป่วยจริง เมื่อใกล้จะครบ 60 วันที่จะต้องรายงานเหตุจำเป็นขอนอนโรงพยาบาลต่อ ทั้งยังถูกตั้งคำถามว่านอนโรงพยาบาลที่อยู่ที่บ้านกันแน่

นายเชาว์ ระบุว่า การปฏิบัติต่อนายทักษิณ ชินวัตรมันคงจะไม่ใช่ความยุติธรรมที่สองมาตรฐานตามที่หลายภาคส่วนใช้ความพยายามทุกช่องทางเพื่อตรวจสอบ แต่ผมเห็นว่านี่คือการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามกฏหมายในการบังคับตามคำพิพากษาและหมายจำคุกของศาลอย่างแจ้งชัดทุกขั้นตอนตั้งแต่ราชทัณฑ์จนถึงโรงพยาบาลตำรวจ และประเด็นสำคัญคือนายทักษิณไม่ได้ถูกจำคุก ต้องตามบทบัญญัติกฎหมาย

คดีนี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ ชินวัตร ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกหมายจำคุก ทั้งสามคดี ดังนี้ 1.คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณหรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย 2. คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณหรือนายทักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 47 คน 3. คดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ของศาลนี้ ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณหรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย ทั้งสามคดีดังกล่าว ศาลได้แจ้งให้จำเลยคือนายทักษิณทราบคำพิพากษาแล้ว โดยคดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ลงโทษจำคุก 3 ปี (สามปี) คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ลงโทษจำคุก 2 ปี (สองปี)คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ลงโทษจำคุกรวม 5 ปี (ห้าปี) นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ศาลออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดในแต่ละคดีแล้ว

ปัญหาว่าเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกบุคคลใดและได้ออกหมายคำคุกแล้วถ้าบุคคลนั้นไม่ได้ถูกจำคุกจริง ตามคำพิพากษาและหมายจำคุกของศาล หรือถูกจำคุกไม่ต้องตามบทบัญญัติกฎหมาย จะมีช่องทางใช้สิทธิทางศาลได้อย่างไร

"ผมจึงเห็นว่ามีช่องทางเดียว คือให้ ปปช. และอัยการสูงสุด ในฐานะโจทก์แต่ละคดีทั้งสามคดี ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงสามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ศาลไต่สวนพฤติการณ์ การจำคุกนายทักษิณตามคำพิพากษาและหมายจำคุกของศาล ว่าไม่ต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผมเชื่อว่าถ้าศาลไต่สวนได้ความว่านายทักษิณไม่ได้ป่วยจริง แต่แกล้งป่วยเพื่อไม่ต้องอยู่ในเรือนจำ  ศาลย่อมมีคำวินิจฉัยพฤติการณ์แห่งคดีเพื่อเป็นบรรทัดฐานการบังคับใช้กฎหมายต่อไป คำสั่งของศาลฎีกาฯจะรับฟังเป็นที่ยุติ ว่าแต่ ปปช. และอัยการสูงสุด จะมีความกล้าหาญในการใช้อำนาจหรือไม่" นายเชาว์ กล่าว